ห้องสมุดเอเชียศึกษาแห่งฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิทยาการที่สำคัญของประเทศ เป็นองค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพชั้นสูงสนับสนุนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของสังคม ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าจะมีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเป็นฐานรากทำหน้าที่ผลิตกำลังคนและองค์ความรู้ป้อนสู่สังคม

ผมเคยนำเสนอความคิด “มหาวิทยาลัยแม่พันธุ์” เอาไว้ คือ มหาวิทยาลัยที่อุดมด้วยความรู้สุดพรมแดนแห่งยุค เป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นแหล่งรวบรวมคณาจารย์และนักศึกษาที่ดีที่สุด ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เป็นสายพันธุ์ทางปัญญา ป้อนสู่สังคม สามารถเป็นกรณีศึกษาหรือต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นต่อยอดทำตามได้[1]

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยหลากหลายสาขาวิชาที่มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์ตามนิยามของผมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน มีลักษณะเป็นแหล่งที่รวมพรมแดนความรู้แห่งยุค มีความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ เป็นแหล่งรวมของคณาจารย์และนักศึกษาที่ดีที่สุดจากทั่วโลก รวมถึงการเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ผ่านระบบห้องสมุดที่ติดอันดับต้นของโลก

ตัวอย่างห้องสมุดเยนชิง (Harvard Yenching Library) เป็นห้องสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของระบบห้องสมุดฮาร์วาร์ดรองจากห้องสมุดไวด์เนอร์ (Widener Library) และห้องสมุดของวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Law School’s Library)

ห้องสมุดเยนชิงนี้มีอายุยาวนานเกือบ 140 ปี มีหนังสือมากกว่า 1.4 ล้านเล่มและมากกว่า 12 ภาษา เป็นห้องสมุดวิชาการด้านเอเชียศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก ประกอบด้วย

  • หนังสือภาษาจีน 836,523 เล่ม
  • หนังสือภาษาญี่ปุ่น 348,873 เล่ม
  • หนังสือภาษาเกาหลี 179,169 เล่ม
  • หนังสือภาษาเวียดนาม 23,979 เล่ม
  • หนังสือภาษาตะวันตก 53,367 เล่ม
  • หนังสือภาษาธิเบต 4,265 เล่ม
  • หนังสือภาษาแมนจู 3,455 เล่ม และ
  • หนังสือภาษามองโกเลีย 494 เล่ม

ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ปรัชญาและศาสนา ศิลปศาสตร์ และวัตถุ ต้นฉบับ สิ่งพิมพ์ รูปภาพ กระดาษม้วน และ rubbing ทางด้านภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเวียดนาม ภาษาตะวันตก และภาษาชนกลุ่มน้อย เช่น ภาษาแมนจู ภาษามองโกเลีย ภาษาธิเบต และภาษานาซิ (Naxi) และมีหนังสือที่ผมเขียนจำนวนหนึ่งอยู่ในห้องสมุดนี้ด้วย เป็นต้น[2]

ห้องสมุดเยนชิงมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนฮาร์วาร์ดสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบห้องสมุดขนาดใหญ่ของฮาร์วาร์ดที่มีส่วนนำพาฮาร์วาร์ดให้ถึงสุดเขตพรมแดนความรู้แห่งยุคที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

กรณีมหาวิทยาลัยไทย การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของห้องสมุดนับว่ามีความสำคัญ เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าพาสู่สุดเขตพรมแดนความรู้ มหาวิทยาลัยจึงควรพัฒนาห้องสมุดให้มีทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเพียงพอและทันสมัยเท่าทันความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการความรู้โลกอยู่เสมอ ทั้งนี้โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความเหมาะสมกับบริบทของยุคสมัย ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึง อันจะมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าทางด้านองค์ความรู้ที่สำคัญแก่ประเทศชาติสังคมอีกทางหนึ่ง

 

[1] ผมนำเสนอความคิด มหาวิทยาลัยแม่พันธุ์ เอาไว้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ณ การประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/07/the-harvard-yenching-library-by-the-numbers/

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ 3 – พฤหัสบดี 9 สิงหาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *