สร้างผู้เรียนเป็น “ผู้ให้” : กรณีการจัดการศึกษาฮาร์วาร์ด

“ตามหาความสุข ..จะพบความทุกข์
ตามหาความดี ..จะพบความสุข
ตามหาการให้ ..จะพบความดี”

ข้อคิดคำคมของผมดังกล่าวนี้อธิบายถึงความสัมพันธ์กันระหว่างความดีและการให้ โดยการให้ดังกล่าวนี้มิเพียงจำกัดอยู่เฉพาะตัวเราเอง ครอบครัว หรือคนรอบข้างใกล้ชิดของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้แก่ประเทศชาติและสังคมส่วนรวมด้วยเช่นเดียวกัน


เราสามารถให้อะไรแก่ประเทศชาติสังคมได้บ้าง ?
แม้ว่าเราแต่ละบุคคลจะสามารถแสดงออกถึงการให้ได้แตกต่างหลากหลาย แต่ผมตกผลึกสรุปเป็น 3 สิ่งสำคัญ “ตามโมเดล 3T ”ของผม ประกอบด้วย

  • เวลา (Time)
  • ทรัพย์ศฤงคาร (Treasure) และ
  • ความสามารถ (Talents) เราแต่ละบุคคลควรมีส่วนนำทั้ง 3 สิ่งดังกล่าวนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม โดยมุ่งเป้าหมายให้แก่ผู้อื่นมากกว่าตัวเอง

การศึกษาในฐานะภาคส่วนสำคัญของการสร้างคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่เป็นองค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพชั้นสูงควรมีส่วนบ่มเพาะหล่อหลอมสร้างนักศึกษาให้มีจิตวิญญาณของการเป็น “ผู้ให้” ปลดปล่อยนักศึกษาจากความเห็นแก่ตัว มีส่วนช่วยยกระดับจิตใจที่เห็นแก่ผู้อื่นและประโยชน์ส่วนรวมให้แก่นักศึกษา สนับสนุนนักศึกษาในการดำรงตนให้มีคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการให้ทั้ง เวลา ทรัพย์ศฤงคาร และความสามารถของผมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนการแสดงออกถึงการให้ดังกล่าวนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น

  • การให้เวลา ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะ “เวลา คือ ชีวิต” ฮาร์วาร์ดสร้างช่องทางและโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำความดีให้แก่สังคมและชุมชนท้องถิ่นหลากหลายกิจกรรมเป็นประจำสม่ำเสมอ สร้างให้เกิดผลกระทบเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่น การสนับสนุนให้มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการโดยนักศึกษาชื่อว่า Phillips Brooks House Association ให้นักศึกษาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำความดีให้แก่สังคมและชุมชนตามประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยองค์กรดังกล่าวนี้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าศตวรรษ ปัจจุบันมีอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดกว่า 1,500 คน ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนชุมชนท้องถิ่นให้บริการมากกว่า 80 โปรแกรมแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำจำนวนกว่า 10,000 คนในพื้นที่เกรทเทอร์บอสตัน (Greater Boston) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ตามที่มีข้อมูลระบุไว้ในเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด

 

  • การให้ทรัพย์ศฤงคาร ฮาร์วาร์ดเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนสนับสนุนทรัพย์สินเงินทองให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งในขณะที่ตนเองยังเป็นนักศึกษาและในช่วงเวลาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นศิษย์เก่าที่มีความจงรักภักดีและมีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์สินเงินทองให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นประจำสม่ำเสมอ อันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมในที่สุด เช่น การบริจาคเงินให้แก่มหาวิทยาลัยของ เดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์ (David Rockefeller) ส่งผลช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาและมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัย การบริจาคทรัพย์สินเงินทองให้แก่มหาวิทยาลัยของศิษย์เก่าดังกล่าวนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดมีเงินทุนถาวรสะสมติดอันดับต้นของโลก

 

  • การให้ความสามารถ ฮาร์วาร์ดสนับสนุนนักศึกษาให้มีส่วนนำความสามารถที่มีอยู่ เช่น ความรู้ ทักษะ ความคิด ฯลฯ มาช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทั้งในระดับชุมชน สังคมประเทศชาติ และมนุษยชาติในโลก เช่น การมีส่วนร่วมทำวิจัยประเด็นที่เป็นโจทย์ความต้องการของสังคม การเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนและช่วยพัฒนาทักษะให้แก่เด็กนักเรียนในท้องถิ่นสร้างให้เกิดผลกระทบแก่เด็กนักเรียนดังกล่าวเหล่านี้เป็นจำนวนหลายร้อยคน รวมถึงวิทยาลัยกฎหมาย (Harvard Law School) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมให้บริการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้รับบริการท้องถิ่นในการริเริ่มธุรกิจด้วย

มหาวิทยาลัยไทยเช่นเดียวกันควรพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีส่วนเสริมสร้างจิตใจแห่งการเป็นผู้ให้ ปลดปล่อยนักศึกษาจากความเห็นแก่ตัว มีส่วนช่วยยกระดับจิตใจที่เห็นแก่ผู้อื่นและประโยชน์ส่วนรวมให้แก่นักศึกษา อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวนักศึกษาเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมประเทศชาติด้วยอีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่ว่า

เป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ” ขยับใกล้.. “สุขแท้จริง”

ประเทศชาติบ้านเมืองเราจะน่าอยู่มากขึ้น หากทุกคนปรารถนาเป็นผู้ให้มากกว่าการเป็นผู้รับ เริ่มต้นจากตัวเราเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมที่เราอยู่ จนถึงการให้แก่ประเทศชาติสังคมส่วนรวมในที่สุด โดยการศึกษาในฐานะภาคส่วนสำคัญของการสร้างคนควรมีส่วนร่วมผลักดันให้สังคมการให้นี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ 19 – พฤหัสบดี 25 มกราคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *