ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เข้มข้นที่เชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยี ทำให้การเชื่อมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกันสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งกว่ายุคใดในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้เห็นกันอย่างชัดเจนทั่วทุกมุมโลก
การก้าวเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์เข้มข้นส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า วัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ ในที่นี้รวมถึงผลกระทบอันเกิดกับภาคส่วนการศึกษาอันเป็นภาคส่วนสำคัญของการสร้างคนและการผลิตองค์ความรู้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิดการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization based Education) หรือการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันเพื่อการศึกษา เรียนรู้และนำทรัพยากรหรือประเด็นทางการศึกษาที่แผ่ขยายหรือแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้เป็น 1 ในหลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ[1] ของผมที่ผมเคยนำเสนอมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี ด้วยตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อภาคส่วนการศึกษา
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่สะท้อนความคิดการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ของผมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นระยะเวลายาวนานหลายปีที่ฮาร์วาร์ดต่อยอดใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา เช่น การสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก การมีมาตรฐานและวัฒนธรรมสากลในการจัดการศึกษา การเป็นแหล่งรวมของนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายทางพื้นภูมิหลังจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากในแต่ละปี
ตัวอย่างการเป็นแหล่งรวมของคณาจารย์และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ระดับสูงจากหลากหลายเชื้อชาติ เช่น กลุ่มคนอเมริกัน กลุ่มคนเอเชีย กลุ่มคนยุโรป รวมถึงการที่คณาจารย์มีส่วนร่วมทำวิจัยในประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบระดับโลกและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลก เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การเผชิญความท้าทายขององค์กรระดับโลก และรวมถึงการมีพื้นที่สนใจในระดับโลกด้วยเช่นเดียวกัน
ความแตกต่างหลากหลายของคณาจารย์ดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักศึกษาได้ขยายมุมมองโลกทัศน์สำหรับนำมาใช้เป็นพื้นฐานพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป
กรณีของมหาวิทยาลัยไทย ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้กันแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งมิติของการจัดการเรียนการสอนและการทำวิจัย แต่อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกยุคอนาคต มหาวิทยาลัยควรคำนึงถึงการจัดการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้มากขึ้น อันจะส่งเสริมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถอยู่รอด แข่งขันได้ และเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญของการใช้โลกาภิวัตน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการศึกษา
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดของผมที่ว่า
“ถ้ามหาวิทยาลัยอยู่ข้างหลังตามโลกก็จะเป็นมหาวิทยาลัย “ไม่จริง” และจะเป็นผู้ติดตามโลก
มหาวิทยาลัยต้องชี้นำสังคมและโลก
เป็นแสงสว่างส่องทะลุทะลวงทางเดินของสังคม”
มหาวิทยาลัยต้องพาตัวเองเชื่อมกับสุดเขตพรมแดนความรู้ที่ดีที่สุดของโลก เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดแก่นักศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้
[1] หลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ ประกอบด้วย การศึกษาบนฐานปรัชญา (Philosophy based Education) การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization based Education) การศึกษาบนฐานการบูรณาการ (Integration based Education) การศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency based Education) การศึกษาบนฐานการเมือง (Politics based Education) การศึกษาบนฐานเศรษฐกิจ (Economic based Education) การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology based Education) การศึกษาบนฐานวัฒนธรรม (Culture based Education) และการศึกษาบนฐานมนุษย์ (Human based Education).
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ 15 – พฤหัสบดี 21 ธันวาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com