ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อการสร้างชาติ: ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ถึง 100 ล้านคน เที่ยวไทยภายในปี 2020 และ 200 ล้านคน ภายในปี 2030

ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากหลายแหล่ง เช่น ใน World atlas ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยมากเป็นอันดับ 10 ของโลก คิดเป็นรายได้กว่าร้อยละ 20 ของจีดีพีของประเทศ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า ในปี 2032 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 100 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมาย 100 ล้านคน ในปี 2020 ที่ผมเคยเสนอไว้เมื่อปี 2000

United Nation World Tourism Organization รายงานว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 29.9 ล้านคนในปี 2015 คิดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน

รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 6 ของโลก คือ 44.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน สเปน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตามลำดับ

แนวโน้มนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 527 ล้านคน ในปี 1995 เป็น 1.186 พันล้านคน ในปี 2015 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.8 พันล้านคน ในปี 2030 รวมถึงภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก จะเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากยุโรป

ดังนั้น ประเทศไทยควรกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมากขึ้น

 

ในความเห็นของผม การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (World Tourism Destination) มี 2 เป้าหมายที่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นจริง คือ การเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดติด 5 อันดับแรกของโลก และมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึงจำนวน 100 ล้านคนภายในปี 2020 และ 200ล้านคน ภายในปี 2030

ผมได้เสนอยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อการสร้างชาติมากกว่า 10 ยุทธศาสตร์ ทั้งยุทธศาสตร์ระยะสั้น (1 – 2 ปี) ระยะกลาง (3 – 5 ปี) และระยะยาว (6 – 10 ปี) โดยในบทความตอนนี้ ผมจะนำเสนอตัวอย่าง 4 ยุทธศาสตร์ที่ส่งผลต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก อาทิ

1. ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เป็นยุทธศาสตร์ระยะสั้น เช่น

(1) ปรับปรุงการบริการสนามบินให้สะดวกรวดเร็ว เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยการรับประกันว่า ผู้โดยสารสามารถออกจากสนามบินได้ภายใน 15 นาทีนับตั้งแต่เครื่องลงจอด
(2) จัดทำโปรแกรมทัวร์อัจฉริยะ (smart tour software) โดยพัฒนา application เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้ด้วยกัน และเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี
(3) สร้างป้ายบอกทางอัจฉริยะ (Intelligent Street Sign) เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าเที่ยวไทยไม่มีหลง โดยร่วมกับผู้จัดทำแผนที่ และผู้ให้บริการแผนที่ผ่านระบบสารสนเทศ ปรับปรุงป้ายบอกทาง และชื่อสถานที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ

149606-9465689

ดังตัวอย่างบริษัท “Breakfast NY” ใน New York ได้พัฒนาโครงการที่มีชื่อว่า “Points” ผลิตป้ายที่มีแขนเล็กๆ 3 แขน ตัวป้ายหมุนได้รอบทิศ 360 องศา และบอกข้อมูลเป็นข้อความบนหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล ซึ่งข้อมูลต่างๆจะถูกค้นจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น Foursquare, Twitter, Transportation APIs, RSS Feeds ฯลฯ

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง  คือ  “ป้ายถนน QR code”  ในเมืองหนานจิงของจีน  ซึ่งนักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถใช้มือถือสแกน  QR code  บนป้ายถนน เพื่อค้นหาข้อมูล  ถนน  ชื่อตึก  และวิธีการติดต่อตำรวจที่รับผิดชอบในท้องที่

2. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงาน event ระดับโลก เป็นยุทธศาสตร์ระยะกลาง ที่จะช่วยเพิ่มผลประโยชน์ของชาติ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ และเกิดอิทธิพลต่อประเทศรอบข้าง เป็นเสมือนการสร้าง soft power เช่น

(1) ดึงดูดการจัดประชุม นิทรรศการ มหกรรมกีฬาระดับโลกมาในไทย เช่น World expo, Olympic game, Asian game, การแข่งขันรถสูตรหนึ่ง, การแสดงดนตรีของศิลปินระดับโลก
(2) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังตัวอย่างของสิงคโปร์ที่สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น สตูดิโอของยูนิเวอร์ซอล (Universal Studio) สวนพฤษศาสตร์ “Garden by the Bay”
(3) ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งถ่ายภาพยนตร์ หรือ Thallywood โดยการสร้างแบรนด์ประเทศไทย

3. สร้าง Landmark ทุกจังหวัด เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยแต่ละจังหวัดต้องสร้าง “เอกลักษณ์” อันก่อให้เกิดเป็น “อัตลักษณ์” ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะ Glocalization

ผมมองว่าบางสถานที่สำคัญอาจไม่จำเป็นต้องมี landmark ก็ได้ แต่ landmark จะเกิดขึ้นหากสถานที่นั้นมีความสำคัญ และทุกจังหวัดในประเทศล้วนมีความสำคัญ เพราะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศร่วมกันได้

ดังตัวอย่าง หอไอเฟล เป็น Landmark ที่เป็นเอกลักษณ์ และก่อให้เกิด “อัตลักษณ์” ของประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวถึง 84.5 ล้านคน นับเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2015 หอไอเฟล สร้างโดย “กุสตาฟ ไอเฟล” ที่เมื่อกว่า 100  ปีที่แล้ว เมื่อสร้างเสร็จถูกถากถางจากชาวปารีส ว่าน่าเกลียดเป็นที่สุด บ้างก็ถูกเรียกว่า “เสาไฟสุดโศก”  “กรวยก้นปัก” หรือ “หน่อไม้ฝรั่งเหล็ก” รวมถึง มีโครงการรื้อทิ้งในปี 1909

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน หอไอเฟลกลายเป็น landmark สำคัญของกรุงปารีส เพราะหอไอเฟล สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นมหานครแห่งศิลปะและการออกแบบของปารีสได้ ทำให้คนทั่วทุกมุมโลกกว่า 40 ล้านคนในแต่ละปีมาเที่ยวสถานที่แห่งนี้

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ผมเห็นว่า ไทยยังไม่มียุทธศาสตร์การสร้าง landmark ในระดับจังหวัดที่ชัดเจน จึงทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว

ประเทศไทยยังมี landmark บางแห่งที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่น “รูปปั้นไดโนเสาร์ที่ภูทับเบิก” ที่ถูกสั่งทุบทิ้ง เนื่องจากรูปปั้นถูกสร้างโดยไม่ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เมื่อมองดูแล้วเกิดความแปลกแยก และไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนของภูทับเบิก รวมถึงบดบังทัศนียภาพของภูทับเบิก

การสร้าง landmark ให้ได้ครบทุกจังหวัด จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน อำเภอ จังหวัด ขึ้นมาเป็นขั้นๆ เพื่อเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และสะท้อนตัวตนที่ดีงามของคนในจังหวัดนั้นจริงๆ

giant-1177905_960_720ทั้งนี้ สำหรับบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยว หรือมี landmark ในระดับประเทศอยู่แล้ว ควรพัฒนาให้สถานที่เหล่านั้นก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลก ขณะที่บางจังหวัดที่ยังไม่มีความโดดเด่นของอัตลักษณ์ที่ชัดเจน อาจสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ควบคู่ไปด้วยกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิม โดยอาจร่วมมือกับภาคเอกชนและต่างประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกไปในตัว

ตัวอย่างการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น การดึงแบรนด์แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกเข้ามาตั้งในไทย (เช่น Disney World, Universal Studio) หรือพัฒนาชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์ทั่วไทยให้มีเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นชุมชนภูมิปัญญาเกษตร ชุมชนเครื่องปั้นดินเผา อันมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญ เป็นต้น

ผมหวังว่า ในอีก 3 ปี และ 13 ปีข้างหน้า จะเห็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเข้าใกล้ทั้ง 2 เป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ผมวางไว้ครับ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ http://bit.ly/2qqLwhO, http://bit.ly/2qrcplM, http://img.archiexpo.es/images_ae/photo-g/149606-9465689.jpg

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *