การตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะมาจากผู้อื่น หรือมาจากตนเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บางเรื่องหากตัดสินใจผิดอาจสามารถแก้ไขได้ หรือ ผ่อนหนักเป็นเบาได้ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายในระดับที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยก็เป็นได้ ในทางตรงกันข้าม หากการตัดสินใจนั้นถูกต้องสามารถส่งผลดีอย่างมหาศาลแก่ชีวิตของเราและผู้อื่นด้วยเช่นกัน
เราคงเคยได้ยินตัวอย่างที่พ่อบ้านบางคนกว่าจะตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสัก 1 ชิ้น ใช้เวลาคิดและศึกษาข้อมูลเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ได้ของที่มีคุณภาพดีตรงตามต้องการ ในขณะที่แม่บ้านบางคนใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ตัดสินใจซื้อเสื้อผ้า ของใช้ในบ้านที่ลดราคาถูกมากในขณะนั้น โดยที่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ของสิ่งนั้นในเวลานั้น หรือบางคนให้เหตุผลว่า “เพราะราคาแค่ 10 บาทเอง ถูกเหมือนได้เปล่า” แต่พอถามว่าต้องการใช้ของสิ่งนั้นมั๊ย คำตอบคือยังไม่ต้องใช้ สุดท้ายจบด้วยการต้องนำไปให้คนอื่น เพราะไม่มีโอกาสได้ใช้เองนั่นเอง หรือบางคนตัดสินใจอย่างรวดเร็วคบหากับเพศตรงข้ามในฐานะคู่รักด้วยเหตุผล เพราะอายุมากแล้วเดี๋ยวจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว หรือเพราะอีกฝ่ายหน้าตาดี ฐานะหน้าที่การงานก็ดีรวมถึงคุณลักษณะภายนอกที่ดูดีต่าง ๆ ฯลฯ โดยไม่ได้รู้จักนิสัยใจคอที่แท้จริง ที่น่าตกใจคือบางคนเพิ่งรู้จักอีกฝ่ายไม่นาน ไม่กี่เดือน หรือบางคนไม่เคยเห็นหน้าตาอีกฝ่ายด้วยซ้ำ แต่ตัดสินใจแต่งงานกับอีกฝ่ายเพราะรู้สึกว่าคนนี้เป็นคนที่ใช่! และสุดท้ายก็ต้องเลิกรากันอย่างรวดเร็วแบบที่โบราณเรียกว่า “หม้อข้าวยังไม่ทันดำเลย”
การตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตของเรา หากพ่อแม่ไม่ได้สอนหลักคิด การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ อาจทำให้เด็กพลาดพลั้งในอนาคตได้ในหลายเรื่องที่สำคัญ ๆ ในชีวิต
ผมคิดว่าในทุกเรื่อง สิ่งที่สำคัญคือการที่พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างด้วยชีวิตก่อน แล้วจึงจะสามารถถ่ายทอดหลักคิดที่ดีให้แก่ลูกได้ หากพ่อแม่เป็นคนที่จะทำอะไรมักจะคิดตัดสินใจให้ดี ๆ เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ ย่อมทำให้เด็กเห็นและเลียนแบบในที่สุด
การตัดสินใจ หมายถึง กระบวนการเลือกทางใดทางหนึ่งจากหลาย ๆ ทางเลือกที่ได้พิจารณาหรือประเมินอย่างดีแล้วว่าเป็นทางที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา หรือกลุ่มองค์กร การตัดสินใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีผลต่อทั้งระดับบุคคลและองค์กรนั้น ๆ
ดังนั้นจะเห็นว่า การตัดสินใจนั้น ต้องมีหลาย ๆ ทางให้เลือก ไม่ใช่มีแค่หนทางเดียวและบังคับว่า ต้องเลือกสิ่งนี้นะ ในการตัดสินใจแต่ละครั้งเราควรคิดทางเลือกไว้หลาย ๆ ทาง รวมถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกเสมอ
ตัวอย่างการตัดสินใจเลือกรับประทานอาหาร fast food กับอาหารที่ประกอบเอง
ข้อพิจารณาอาหารประเภท fast food
ข้อดี | ข้อเสีย |
1.อร่อย เด็กชอบ ทำให้รับประทานอาหารได้ปริมาณมาก | 1.มีประโยชน์น้อย ส่วนใหญ่มีโทษ |
2.สะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องใช้เวลาในการประกอบอาหาร | 2.อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นส่วนประกอบ |
3.ในบางโอกาสมีราคาถูกกว่าอาหารที่ปรุงด้วยตนเอง | 3.ส่วนใหญ่มีราคาแพง |
4.หาซื้อได้ง่าย |
ข้อพิจารณาอาหารประเภทประกอบเอง
ข้อดี | ข้อเสีย |
1.มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก | 1.หากไม่มีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาหารจะไม่อร่อย |
2.สะอาดปลอดภัย | 2.ต้องใช้เวลาในการประกอบอาหาร |
3.ส่วนใหญ่ราคาไม่แพง | |
4.สามารถรับประทานได้มากเท่าที่ต้องการเนื่องจากราคาถูก |
จากการประเมินดู เราควรให้ความสำคัญกับสุขภาพ พลานามัย เป็นอันดับ 1 ดังนั้นจึงเลือกประกอบอาหารเอง ซึ่งทำให้เราสุขภาพดี กว่าการบริโภคอาหารจานด่วน
ตัวอย่างการใช้เวลาว่างของเด็กในช่วงปิดเทอมเปรียบเทียบระหว่างการเล่นอิสระ : การเรียนเสริมพิเศษ เช่น ด้าน วิชาการ กีฬา ดนตรี ศิลปะ
ก.การเล่นอิสระ
ข้อดี | ข้อเสีย |
1.ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง | 1.กรณีพ่อแม่ทำงาน ต้องหาที่ฝากเด็กในตอนกลางวัน |
2.พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ | 2.หากเด็กใช้เวลาไม่ถูกต้องจะทำให้เสียประโยชน์ |
3.ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย |
ข.การเรียนเสริมพิเศษ เช่น ด้านวิชาการ กีฬา ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ
ข้อดี | ข้อเสีย |
1.ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ | 1.เด็กจะรู้สึกเคร่งเครียด |
2.มีคนดูแลเด็กให้ช่วงปิดเทอม | 2.มีค่าใช้จ่าย |
การเลือกให้ลูกใช้เวลาอย่างไร ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเรื่องการดูแลลูกช่วงปิดเทอมด้วย แม้อยากให้ลูกพักผ่อนแต่เนื่องจากไม่มีคนดูแลเด็กช่วงปิดเทอมจึงจำเป็นต้องให้ลูกเรียนพิเศษของที่โรงเรียนช่วงปิดเทอม เป็นต้น
จะสอนลูกให้รู้จักตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดอย่างไร
1. ให้เด็กมีโอกาสได้เห็นระหว่างสิ่งที่ดีที่สุด กับที่แย่ที่สุดหรือแย่กว่า
ด้วยความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขทำให้พ่อแม่มักเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกของตนเองเสมอ หากเราชี้ให้ลูกเห็นว่า สิ่งที่เราเลือกให้นั้นแตกต่างกับสิ่งอื่นอย่างไร เช่น การเลือกซื้อของเล่นให้ลูก เวลาเดินตามห้างสรรพสินค้า เด็กมักจะอยากได้ของเล่นเด่นดังในขณะนั้น อาจจะเพราะเพื่อนคนอื่นมี หรือเพื่อนทุกคนมี ในฐานะพ่อแม่เราต้องสอนลูกว่า ของเล่นชิ้นนั้นมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ลูกจะสามารถเล่นได้นานแค่ไหน ราคาของเล่นเหมาะสมกับประโยชน์ที่ลูกจะได้รับหรือไม่ ดังตัวอย่างในสมัยที่ตุ๊กตาเฟอร์บี้กำลังเป็นที่นิยมและราคาแพง เด็ก ๆ ต่างชอบใจในความแปลกใหม่ของมัน พ่อแม่หลายคนคงถูกลูกรบเร้าให้ซื้อ และหลายคนก็ซื้อให้ลูกเล่นไปแล้ว ต่อมาไม่นานความนิยมเล่นตุ๊กตานี้ก็หมดไป แทบไม่มีใครพูดถึงอีกเลย พ่อแม่หลายท่านคงทราบว่าในความเป็นจริงของเล่นหลายชนิดลูกเล่นไม่กี่วันก็เบื่อแล้ว ไม่สมกับราคาที่ซื้อมาหลายพันบาท หากพ่อแม่วางแผนในการซื้อหาของเล่นที่สามารถเล่นได้นาน ๆ และส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างแท้จริง เช่น เลโก้ จักรยาน อุปกรณ์กีฬา ตุ๊กตารูปสัตว์ ฯลฯ นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายและให้ประโยชน์คุ้มค่ากับราคาของเล่นแล้ว ยังเป็นการสอนลูกให้รู้จักใช้เงินอีกด้วย
2. สอนให้เด็กเข้าใจเป้าหมายของการตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ในการตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดเราต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน จะสามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่าง การพาลูกไปซื้อเครื่องดนตรีเพื่อใช้ฝึกพัฒนาทักษะของลูก พ่อแม่กับลูกควรกำหนดเป้าหมายในการซื้อครั้งนี้
ต้องการซื้อไวโอลินเพื่อเอาไว้ฝึกซ้อมสำหรับเด็กอายุ 5 ปี
ราคา ไม่เกิน 3000 บาท
คุณภาพเสียงปานกลาง-ดี
เหมาะกับผู้ใช้ (ขนาด-สีที่ชอบ)
ยี่ห้อที่สามารถขายต่อได้ราคาที่ไม่ตกลงมา ฯลฯ
สำหรับเด็กอายุขนาดนี้ เพิ่งเริ่มเรียนไวโอลิน ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ของราคาแพง เพราะบางคนอาจไม่ชอบและเลิกเล่นในเวลาไม่นาน เพิ่งเริ่มเล่นอาจมีการทำตก หรือสูญหายเนื่องจากยังเก็บรักษาของไม่เป็น บางทีอาจซื้อเครื่องมือสองสภาพดีให้ก็ยังได้ จนเมื่อเด็กมีความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนอย่างจริงจังและเด็กโตขึ้นมีความสามารถในการดูแลรักษาข้าวของส่วนตัวได้ ก็เหมาะสมที่จะซื้อของคุณภาพดีราคาแพงขึ้นตามกำลังทรัพย์ของผู้ปกครองได้
3.สอนให้เด็กแจงข้อดีและข้อเสียของสิ่งต่างๆมาเปรียบเทียบกัน.
โดยการแสดงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ดังตัวอย่าง การเลือกรับประทานอาหารจานด่วน และการเลือกใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมของลูก ข้างต้น
4.สอนค่านิยมที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ
ในทุกเรื่อง ไม่ว่าเป็นเรื่อง การเลือกอาหาร การเลือกซื้อเสื้อผ้า การเลือกสายการเรียน การเลือกเพื่อนสนิท การเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง ซึ่งจะได้มีโอกาสกล่าวถึงในครั้งต่อ ๆ ไป
5. ชี้นำในการเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใด หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ จะเกิดความเสียหายมาก หากเด็กเลือกผิด
เช่น เลือกโรงเรียน เลือกงานอดิเรก (การเรียนดนตรี, การเล่นกีฬา, การสะสมของ ฯลฯ) การเลือกกลุ่มเพื่อน การเลือกสายอาชีพ (ต้องเป็นไปตามความถนัดและผู้ปกครองช่วยแนะนำ ช่วยหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ) การเลือกคู่ครอง ( สอนหลักการ แนะนำ ให้คำปรึกษา)
6. ให้โอกาสเด็กตามวัยในการตัดสินใจเลือกในเรื่องที่ไม่ส่งผลเสียมาก
เพื่อฝึกการตัดสินใจ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและก่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติสิ่งนั้น ๆ เช่น การอาหารการกิน การเลือกของเล่นของใช้ส่วนตัวที่ชอบ การเลือกงานอดิเรกที่ชอบ การเลือกเครื่องแต่งกายในแบบที่ชอบ เป็นต้น
7. หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ให้คำแนะนำ จูงใจให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยสมัครใจ ไม่บังคับ
โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ที่เด็กมักจะฟังเพื่อนมากกว่าผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงต้องปรับบทบาทเป็นเพื่อนกับลูกที่สามารถพูดคุยกันได้ในทุกเรื่อง ดูทีวี ไปเที่ยวกับลูกในแบบที่ลูกในบางครั้ง ให้คำแนะนำลูกด้วยความเข้าใจ พูดคุยโน้มน้าวด้วยเหตุผล
8.เป็นแบบอย่างในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ
พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดบุคลิก วิธีคิดในการเลือก การตัดสินใจในสิ่งต่างๆในชีวิต เวลาตัดสินใจเลือกสิ่งใดก็สอนลูกไปพร้อมกัน หรือพาไปเลือกด้วยกัน เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีคิดตัดสินใจของพ่อแม่อย่างเป็นธรรมชาติ
การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเป็นทักษะสำคัญสำหรับเด็ก แม้หลายครั้งการตัดสินใจครั้งนั้นๆ อาจไม่ได้สิ่งดีที่ที่สุด แต่การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเสมอสามารถผ่อนความเสียหายจากหนักเป็นเบาได้
ที่มา: แม่และเด็ก
คอลัมน์ : ครอบครัวสุขสันต์
ปีที่ 38 ฉบับที่ 524 ตุลาคม 2558
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.thaihealth.or.th/data/content/25476/cms/e_abhpsvwyz246.jpg