ผลดี และ ผลเสียของนโยบายเน้นการส่งออกแรงงาน (Labour Export Policy) ของประเทศฟิลิปปินส์

237096เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ย้อนกลับไปใน ทศวรรษที่ 1970 ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับวิฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยหนึ่งในปัญหาที่สำคัญ นั้นคือ ปัญหาการว่างงานของคนในชาติ โดยในปี ค.ศ.1970 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.8 ซึ่งถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้นาย เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีในขณะนั้น เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งออกแรงงานเพื่อลดอัตราการว่างงาน และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ  นโยบายเน้นการส่งออกแรงงานของประเทศฟิลิปปินส์ (Labor Export Policy) ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่สามารถลดอัตราการว่างงานของคนในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญนโยบายหนึ่งตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน โดยบทความชิ้นนี้จะวิเคราะห์ถึงนโยบายดังกล่าว ว่ามี ผลดี และ ผลเสียอย่างไร และประเทศไทยสามารถเรียนรู้สิ่งใดบ้างจากนโยบายนี้

ผลดีของนโยบายส่งออกแรงงาน :

1. กระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราความยากจนภายในประเทศ : เงินที่ประชาชนฟิลิปปินส์ได้รับจากสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานต่างประเทศ สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยเงินที่พวกเขาได้รับจะถูกจับจ่ายไปในสิ่งต่าง ๆ อาทิเช่น ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ค่าเช่าบ้าน การศึกษาของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบจากสถิติแล้ว เงินที่ถูกส่งกลับเข้ามาในฟิลิปปินส์มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี โดยในปี ค.ศ.2011 ที่ผ่านมา เงินจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนส่งเงินกลับประเทศสูงกว่า 20 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เงินจากต่างประเทศเหล่านี้ส่งผลทำให้ระดับความยากจนลดลง และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

2. ความช่วยเหลือจากชาวฟิลิปปินส์ต่างแดน : วัฒนธรรมการรับผิดชอบต่อสังคมของชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดนเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเขาได้ทำเพื่อประเทศของเขา โดยองค์กรชาวฟิลิปปินส์ กลุ่มองค์กรศิษย์เก่า และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นทั่วโลก กว่า 4,000 กลุ่มในต่างประเทศ เนื่องด้วยชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศมีความผูกผันในรากเหง้าและภูมิหลังที่เหมือนกัน องค์กรเหล่านี้ได้ช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาโรงเรียน โบสถ์ การให้ทุนการศึกษา การจัดตั้งสถาบันทางสาธารณสุข และสถานสงเคราะห์เด็ก เป็นต้น

3. การพัฒนาศักยภาพของแรงงานในต่างแดน : แรงงานฟิลิปปินส์ได้รับความรู้และทักษะจากการทำงานในต่างประเทศ อาทิเช่น การส่งแรงงานงานฝีมือไปทำงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาบุคคลากรและแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์และประเทศญี่ปุ่นได้มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพทางการผลิตของแรงงานฟิลิปปินส์ ผ่านองค์กรความร่วมมือการฝึกงานระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JITCO)

ผลเสียของนโยบายส่งออกแรงงาน:

1. ด้านการพัฒนาประเทศ : สภาวะที่ต้องพึ่งพารายได้ภาคแรงงานจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของคนในสังคม โดยเฉพาะภาวะสมองไหล ที่ฟิลิปปินส์ต้องเสียทรัพยากรบุคคลชั้นดีไปทำงานในต่างประเทศแทนที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยภาวะสมองไหลนี้เองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์พัฒนาประเทศช้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะการส่งแรงงานไปทำงานในต่างแดน ทำให้เกิดผลผลิตภายในประเทศในอัตราที่ต่ำ ขาดการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเกษตรกรรม ด้านนโยบายส่งเสริมการส่งออก และการพัฒนาสังคมของคนในประเทศ อีกทั้งครอบครัวที่พึ่งพารายได้จากแรงงานในต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะทำงานน้อยลงตามไปด้วย

ในด้านของการบริหารประเทศ การที่ภาครัฐพึ่งพาเงินจากแรงงานต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นสาเหตุหลักในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไร้ศักยภาพของรัฐบาลอีกด้วย

2. ภาวะขาดแคลนแรงงานสำคัญภายในประเทศ : ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้แรงงานฟิลิปปินส์มีความพยายามไปทำงานในต่างประเทศนั้นคือ ปัจจัยด้านค่าตอบแทน  โดยอาชีพหนึ่งที่ถือว่าสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นคือ อาชีพพยาบาล โดยเมื่อเปรียบเทียบทางรายได้ของพยาบาลในประเทศ สหรัฐอเมริกา ต่อรายได้ในประเทศฟิลิปปินส์แล้ว อัตราเฉลี่ยของรายได้คิดเป็น 10:1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พยาบาลในฟิลิปปินส์เลือกทำงานในต่างประเทศ อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานพยาบาลภายในประเทศในที่สุด เฉกเช่นเดียวกับอาชีพหมอ ที่ตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา มีแพทย์ฟิลิปปินส์มากกว่า 11,000 คน ได้ผันตัวไปเป็นพยาบาลในต่างประเทศ และตามสถิติแล้วในปี ค.ศ. 2006 มีนายแพทย์กว่า 6,000 รายได้หันไปเรียนต่อในสาขาพยาบาล เพียงเพื่อที่จะได้เป็นพยาบาลในต่างประเทศเหตุเพราะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า หรืออาชีพครู ที่ผันตัวไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศเหตุเพราะค่าตอบแทนที่สูงกว่าเช่นกัน และปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพด้านการศึกษา และ สาธารณสุขภายในประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน

3. ภัยจากการคุกคามในรูปแบบต่างๆ : ในการทำงานในต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่แรงงานฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะแรงงานสตรี อาจประสบคือ ปัญหาในเรื่องความรุนแรง และการทารุณกรรม แม้กระนั้นปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นภายในประเทศเป็นอันดับแรก อาทิเช่น การบีบบังคับให้สมาชิกภายในครอบครัวไปทำงานในต่างประเทศ เป็นต้น มากไปกว่านั้นเมื่ออยู่ในต่างประเทศ แรงงานเหล่านี้อาจต้องประสบกับความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางร่างกาย ทางวาจา และทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายจากการละเมิดทางเพศ สภาพการทำงานที่ทารุณ สภาพไร้การติดต่อจากโลกภายนอก หรือจะเป็นการบังคับขู่เข่นให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ และหากแรงงานสตรีเหล่านี้มีหัวหน้างานเป็นผู้ชาย สตรีเหล่านี้อาจได้รับการทารุณกรรมจากเจ้านายที่เป็นผู้ชายได้โดยง่าย

4. ปัญหาด้านครอบครัว : เพราะเมื่อสมาชิกในครอบครัวต้องทำงานในต่างประเทศ ทำให้เด็กที่เกิดมาท่ามกลางสภาพไร้พ่อขาดแม่ มีแนวโน้มที่มีปัญหาทางจิตใจมากกว่า เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์ ที่มีทั้งพ่อและแม่

ในตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมานโยบายการส่งออกแรงงาน (Labour Export Policy) ของฟิลิปปินส์มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดปัญหาความยากจน และอัตราการว่างงานภายในประเทศ แต่แม้กระนั้นนโยบายดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ประเทศฟิลิปปินส์พัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน อันเนื่องมาจากสภาวะสมองไหล และ การลงทุนภายในประเทศที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังส่งผลต่อปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ปัญหาความรุนแรงในการทำงานต่างแดน และ หรือปัญหาครอบครัวที่เกิดจากการพ่อแม่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ โดยสรุปแล้วสิ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จำเป็นต้องแก้ไขนั้นคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนาไปแบบยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างชาติ

บทเรียนสำหรับประเทศไทย : ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพิงแรงงานไร้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว และ กัมพูชา แต่ในขณะเดียวกันที่ยังคงส่งออกแรงงานไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน อาทิเช่น อาชีพแม่บ้าน หรือ อาชีพพ่อครัวเป็นต้น และสิ่งที่ประเทศไทยต้องตระหนักนั้นคือ ประเด็นเรื่องการแลกเปลี่ยนแรงงานที่มีทักษะ(Skilled Labour)โดยเสรีในปี ค.ศ. 2015 ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับภาวะขาดแคลนแรงงานที่สำคัญเหมือนประเทศฟิลิปปินส์ หรือ รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรที่จะทำให้แรงงานไทยมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันในตลาดสากลในอนาคต

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620×245/cover/237096.jpg