บ้านเมือง
คอลัมน์ : บ้านเกิดเมืองนอน
ไท ทองเค
ภาษาศาสตร์คำว่า “การพัฒนามนุษย์” ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายเมื่อปี พ.ศ.2555 ว่า เป็นกระบวนการพัฒนาที่ทำให้บุคคลเติบโตอย่างมีระบบครบถ้วนทุกด้าน ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เพื่อให้บุคคลนั้นพัฒนาเต็มตามศักยภาพ สามารถประกอบสัมมาชีพ พึ่งพาตนเองได้ และเกื้อหนุนดูแลผู้อื่น อาทิ ครอบครัว ชุมชน สังคม ในภาพรวมได้อย่างเหมาะสม
ผมมีนัดกินข้าวเที่ยงกับเพื่อนผู้ชายที่เรียนบัญชีธรรมศาสตร์ 93 ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ซึ่งนัดกินเป็นประจำที่ร้านชายทะเลจันทร์เพ็ญ (ชื่อวันนี้เปลี่ยนเป็น “จันทร์เพ็ญ”) วันวานนี้ คุณสมดี เจริญกุล-เพื่อนคนหนึ่งในก๊วนสิบชายวันอาทิตย์ ได้กรุณาถือหนังสือ “ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา” เขียนโดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ มาให้ผมหนึ่งเล่ม หนังสือ “ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา” เป็นหนังสือว่าด้วยการสร้างตนคนขั้นเทพ เป็นเล่มที่สองต่อจากเล่มแรกของ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ในชื่อ “สยามอารยะ แมนนิเฟสโต” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมอแนช ออสเตรเลีย และยังมีปริญญาพ่วงอีกหลายฉบับ จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทั้งอังกฤษและสหรัฐ
ท่านเป็นนักวิชาการอาวุโสของ ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐ เป็นศาสตราจารย์วิจัย ของ ม.รีเจนท์ สหรัฐ เป็นอาจารย์สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ การต่างประเทศ การศึกษา การคิด และการบริหารองค์การ และเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม
หนังสือชุด “สยามอารยะ” โดนใจผมอย่างมาก ด้วยคำขึ้นเขียนหนังสือหลายเล่ม
หนังสือชุด “สยามอารยะ” โดนใจผมอย่างมาก ด้วยคำขึ้นต้นของท่านผู้เขียนก็สุดยอดแล้วเพราะท่านประกาศว่า
“ถ้าความชั่วชนะความดีได้ ผมขอลาออกจากความเป็นคน เพราะความดีต้องชนะ”
ท่านเขียนหนังสือชุดนี้ด้วยความต้องการมีส่วนร่วม ในการสร้างชาติให้เป็นอารยประเทศ ท่านเปิดเผยเหตุผลในการเขียนหนังสือชุดนี้ด้วยว่า
“เราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศไทยเดินเรื่อยไปแบบไร้ทิศทางได้ ไม่สามารถปล่อยให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ โดยคนในชาติมองไม่เห็นอนาคต”
โดยภาพรวม ผมคิดว่าท่านผู้เขียนต้องการพัฒนาประเทศชาติและต้องการพัฒนามนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนและแผ่นดินต้องไปด้วยกัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่เขียนคำนิยมให้กับหนังสือชุดนี้
“คนไทยจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ควรได้ศึกษาหาความรู้ ประวัติศาสตร์ความเจริญและความล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ในโลก อย่างที่ ดร.เกรียงศักดิ์ได้นำมาเรียบเรียงไว้ให้ และตั้งทิศทางและเป้าหมายของประเทศที่เราทั้งหมด จะมุ่งเดินไปสู่ความเป็นอารยะ”
หนังสือชุดนี้อยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ เล่มแรกราคา 195 บาท และเล่มสอง 250 บาท หากคนไทยคนใดไม่มีกำลังซื้อพอ ก็ไปอ่านฟรีได้ที่หอสมุดแห่งชาติ อ่านเถิดครับ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ชื่อว่า เป็นคนไทยคนหนึ่งในจำนวนคนไทยจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าว
เล่มสองมีบทที่ว่าด้วย การพัฒนาคนไปสู่ความเป็นคนอารยะ ในฐานะคนของอารยรัฐ ทั้ง 5 ประเภทคือ อารยพลเมือง, อารยเจ้าหน้าที่รัฐ, อารยนักการเมือง, อารยวีรบุรุษ และอารยรัฐบุรุษ
ผมไม่คิดว่า หนังสือชุดนี้จะเข้าถึงห้องสมุดของทำเนียบรัฐบาล เพราะถ้าเข้าถึง ประเทศชาติของผมคงไม่เดินเรื่อยไปแบบไร้ทิศทาง และมีการพัฒนาประเทศไปอย่างสะเปะสะปะ โดยคนในชาติมองไม่เห็นอนาคต…!!!!