สถานการณ์ของการทำงานภาคประชาชนในโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ภาคประชาชนต้องพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมุ่งสู่ ‘การเปลี่ยนแปลงทางสังคม’ มากกว่า ‘การวิ่งไล่ตามแก้ไขปัญหาสังคม’
การทำงานเชิงรุกจะถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า “ยั่งยืน” และ “หุ้นส่วน” ถูกกำหนดเป็นวัฒนธรรมหลักและกติกาขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก กล่าวคือ องค์กรภาคประชาชนจะต้องสามารถเป็นทั้งที่พึ่งของสังคมและพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง
จุดแข็งของภาคประชาชน คือ มีประสบการณ์ในการทำงานที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิด เกาะติดปัญหาในพื้นที่ มีความคล่องตัวในการดำเนินการ ไม่ติดกับกฎระเบียบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้มีปัญหา และจัดการกับปัญหาได้จริง
แต่ข้อจำกัดขององค์กรภาคประชาชน คือเรื่องเงินทุน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีแหล่งรายได้ประจำ และต้องขอเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งมักต้องทำตามวาระที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ให้ทุน ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระตามรูปแบบและแนวทางของตนเอง ขณะที่องค์กรบางส่วนจัดตั้งขึ้นในลักษณะอาสาสมัคร แต่ขาดความเป็นมืออาชีพในการบริหารโครงการหรือการติดตามการใช้จ่ายเงิน
ผมได้วิเคราะห์ลักษณะองค์กรภาคประชาชนของไทยในปัจจุบันไว้ดังต่อไปนี้
มีประสิทธิผล แต่ขาดเสถียรภาพ
ผลงานภาคประชาชนมีให้เห็นเป็นรูปธรรมตามรายประเด็น มีโครงการเล็กๆ และองค์กรเจ้าภาพจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นระบบได้ และไม่สามารถสร้างบทบาทที่โดดเด่นได้ ทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง อาสาสมัครส่วนใหญ่มักเข้าร่วมเป็นรายกิจกรรม ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้การทำงานไม่มีพลัง และไม่มีอำนาจมากเพียงพอ
มีกำลัง (ปริมาณ) แต่ขาดพลัง (คุณภาพ)
ปัญหาภาคประชาชนไทยไม่ใช่การขาดคนดี แต่ “คนดีมักไม่ค่อยมีพลัง” กล่าวคือ บางครั้งขาดความรู้ มองเห็นปัญหาในเชิงลึก แต่ไม่เห็นปัญหาในภาพกว้าง ไม่รู้จริง รู้ไม่ลึก รู้ไม่กว้าง รู้ไม่ไกล ทำให้มักตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น บางครั้งขาดทักษะ เช่น สร้างองค์กรไม่เป็น สร้างระบบระดมทรัพยากรไม่ได้ เป็นต้น และ บางครั้งขาดลักษณะชีวิตที่ดี เพราะบางองค์กรขาดความโปร่งใสและไม่น่าเชื่อถือ เป็นเสมือนหุ่นเชิดของกลุ่มอำนาจ
ปัจจุบัน ภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีพลังและมีส่วนร่วมมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ภาคประชาชนมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน แต่เพราะภาครัฐมีอำนาจทางตรงผ่านกฎหมาย ภาคเอกชนมีอำนาจทางอ้อมผ่านทรัพยากร ขณะที่ภาคประชาชนมีเพียงหัวใจ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องทำให้ “ประชาชน” กลายเป็น “พลเมือง” มากยิ่งขึ้น
มีระบบและบริบทสนับสนุน แต่ยังไม่สมบูรณ์
ยุทธศาสตร์ประชารัฐเป็นประชารัฐเพียงครึ่งใบ เพราะประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมมากนัก ทั้งในการควบคุมหรือตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ แม้ประชาชนมีส่วนร่วมบ้างหรืออ้างว่ามีส่วนร่วม แต่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เล่นหลักจริง เพราะรัฐยังดำเนินการทุกอย่างเป็นส่วนใหญ่
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความเข้มแข็งของภาคประชาชน คือ ทัศนคติของสังคม เพราะประชาชนยังมองการเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ มองคนมีอุดมการณ์เป็นพวกโลกสวย ซึ่งทัศนคติเช่นนี้ส่งผลให้ประชาชนที่มีความสามารถและโอกาส ไม่ปรารถนาจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชน
อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อน หากนำจุดแข็งในแต่ภาคส่วนมาใช้ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม ย่อมช่วยให้ได้แนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น ทั้ง 3 ภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน โดยผมขอเสนอ 10 บทบาทและแนวทางการสร้างความร่วมมือของภาคประชาชนกับภาครัฐและเอกชน ได้แก่
1. ร่วมริเริ่ม ด้วยหัวใจและอุดมการณ์เดียวกันในฐานะพลเมืองไทย คือ มุ่งพัฒนา เปลี่ยนแปลง และสังคมไทยให้เจริญขึ้นทั้งด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรม ภายใต้สังคมพหุเอกานิยมที่มีความแตกต่างหลากหลาย
2. ร่วมคิด วางวิสัยทัศน์ กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไป โดยให้มีความสอดคล้องกับบริบทสังคมโลกปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
3. ร่วมวางเป้าหมาย ในแต่ละมิติ แต่ละด้านอย่างเป็นรูปธรรม อันอาจดูได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว นำสิ่งดีมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับระบบและบริบทสังคมไทย
4. ร่วมสร้างยุทธศาสตร์ โดยแสวงหาปัจจัยส่วนน้อยที่จะนำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ทางสังคมส่วนใหญ่อาทิ ตามแนวทาง Dr. Dan Can Do Strategy’s Law
5. ร่วมปฏิบัติ ตามแนวทางที่ได้ศึกษา สำรวจ ค้นหา และวิจัยแล้วว่าเป็นแนวทางที่ดีเลิศที่สุดในโลก และเป็นไปตามมาตรฐานสากลระดับโลก
6. ร่วมติดตาม ไม่ปล่อยปละละเลย เมื่อลงมือทำแล้ว ต้องวางแผนขั้นตอนการติดตามผลให้ภาครัฐหรือเอกชน เข้ามามีส่วนเป็นผู้ร่วมติดตามผลการดำเนินงานของภาคประชาชนว่าถึงขั้นตอนกระบวนใดแล้ว
7. ร่วมตรวจสอบ ในทุกการดำเนินงานว่ามีความโปร่งใส ปราศจากคอร์รัปชั่น เป็นไปตามแผนงานและวัตถุประสงค์ที่ได้วางหรือไม่ อาจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์กรภาคประชาชนร่วมจากทั้ง 3 ภาคส่วน
8. ร่วมประเมิน ทั้งในมุมจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนว่าผลการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ เป็นอย่างไร มีคุณค่าและความเลอค่ามากน้อยเพียงใด เกิดความสัมฤทธิ์ในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่
9. ร่วมรับผิดชอบ ไม่โยนความผิดพ้นตัว แต่ต้องร่วมกันรับผิดชอบในสิ่งที่ที่เกิดขึ้นตามขอบเขตความรับผิดชอบแต่ละภาคส่วน
10. ร่วมแก้ไข ปรับปรุงวิธีการทำงานและดำเนินการของแต่ละภาคส่วนให้ดียิ่งขึ้น โดยยึดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศเป็นที่ตั้ง
ทั้ง 10 บทบาทข้างต้นต่างต้องอาศัยทั้งคน ระบบ และบริบท ซึ่งเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับ 3 ภาคส่วนที่ต้องประสานและร่วมมือกัน หากขาดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดหรือภาคส่วนหนึ่งส่วนใดไป จักไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com