บทความที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงสัญญาณของสงครามอภิมหาอำนาจ (hegemonic war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงอีก 5 แนวรบ ดังต่อไปนี้
- สงครามทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation War)
ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ได้ประกาศแนวนโยบาย “America First” ทำให้สหรัฐฯ ลดบทบาทการเป็นผู้นำของโลกเสรี จากการถอนตัวออกจากข้อตกลงTPP ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและข้อตกลงปารีส
จีนจึงฉวยโอกาสแสดงบทบาทผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ โดยการประกาศการลงทุนในพลังงานทดแทน การยืนยันเปิดประตูทางเศรษฐกิจ และการสานต่อข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ
จีนยังพยายามขยายเขตอิทธิพล โดยการสร้างความสัมพันธ์หรืออำนาจละมุน (soft power) ผ่านความร่วมมือต่างๆ เช่น ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งสามารถดึงความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ได้ถึง 134 ประเทศ
- สงครามแนวกั้น/สงครามปิดล้อม (Containment War)
ด้วยเหตุที่ภูมิศาสตร์ของจีนมีทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพียงด้านเดียว แต่ทางออกสู่มหาสมุทรของจีนกลับถูกปิดล้อมด้วยเขตน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ จีนจึงต้องพยายามฝ่าวงล้อมและผลักดันเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ให้ออกห่างจากดินแดนของตน
จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกในสงครามปิดล้อม ด้วยการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล การอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ การตั้งฐานทัพเรือนอกอาณาเขต การเปิดตลาดอาวุธสงคราม และสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย
แต่ความพยายามของจีนทำให้เกิดข้อพิพาทกับญี่ปุ่น และ 4 ประเทศในอาเซียน และสร้างความกังวลให้แก่อินเดีย สหรัฐฯ จึงใช้โอกาสนี้สร้างแนวร่วมในการปิดล้อมจีน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้ง Quadrilateral Security Dialogue (Quad) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น
- สงครามป้องกันภัยคุกคาม (Defense Threat War)
ปัจจุบัน แม้ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของจีนยังต่ำกว่าสหรัฐฯหลายเท่าตัว แต่จีนมีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทางการทหารมากที่สุดในบรรดาประเทศมหาอำนาจ
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีนโยบายเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพการทหาร โดยมีเป้าหมายพัฒนากองทัพให้ทันสมัยอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2035 และเป็นกองทัพระดับโลกในปี 2050 ซึ่งจะทำให้จีนสามารถต่อกรกับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้อย่างทัดเทียม
จีนยังลงทุนจำนวนมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีการทหาร ทำให้จีนสามารถพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ได้ ทำให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธที่มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ จีนยังสร้างพันธมิตรทางการทหารอย่างใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งถูกกีดกันจากสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรป
การก้าวขึ้นมาของจีน ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระกรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยให้น้ำหนักกับภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียมากกว่าการก่อการร้าย
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่ทำกับรัสเซีย (NIF) และกดดันให้ประเทศสมาชิกนาโต้เพิ่มเงินสมทบด้านกลาโหม สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกับรัสเซีย สหรัฐฯ จึงไม่ต้องการให้สนธิสัญญาดังกล่าวมาเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางการทหารกับจีน รวมทั้งต้องการกดดันให้พันธมิตรร่วมรับผิดชอบในการป้องกันภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียมากขึ้นด้วย
- สงครามตัวแทน (Proxy War)
แม้การปะทะกันของสหรัฐฯ และจีนในแนวรบต่าง ๆ ข้างต้น มีโอกาสนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารเข้าสู้รบกัน แต่การที่ทั้งสองประเทศครอบครองอาวุธร้ายแรง จึงพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดแนวรบในอาณาเขตประเทศของตัวเอง จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดสงครามตัวแทนในดินแดนของประเทศที่สาม
สงครามกลางเมืองของซีเรียอาจนับได้ว่า เป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯและจีนในระดับหนึ่ง เพราะจีนในฐานะพันธมิตรของรัสเซียได้เข้าไปสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดด้วยเช่นกัน โดยมีแรงจูงใจคือผลประโยชน์ในการขายอาวุธและการเข้าไปฟื้นฟูประเทศซีเรียหลังสงคราม รวมทั้งการจัดการกับชาวอุยกูร์ที่มาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
ในอนาคต สงครามตัวแทนระหว่างสองอภิมหาอำนาจมีโอกาสเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ตามแนวเส้นทางสายไหมของจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงอาฟริกาตะวันออก
นอกจากนี้ ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดสงครามตัวแทน คือ ประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหรือประเทศที่มีทรัพยากรที่สำคัญ และมีปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในเวลานี้
- สงครามทางการทหาร (Military War)
สงครามทางการทหารเต็มรูปแบบระหว่างสองอภิมหาอำนาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งสองฝ่าย และทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์กันทั้งทางการค้า การลงทุน และการพึ่งพากันและกันค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การปะทะกันทางทหารในระดับย่อยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯ มีทหารเข้าประจำการมากกว่า 200 จุดทั่วเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่จีนมีแนวโน้มขยายปฏิบัติการทางทหารในเอเชีย แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติในการทำสงคราม และการพัฒนากองกำลังอวกาศ อาจทำให้สงครามเกิดได้ง่ายขึ้น แต่จะเป็นสงครามที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตน้อยลง
จากสำนวนไทยที่กล่าวว่า“ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิด แรงจูงใจ ยุทธศาสตร์ แนวรบ และผลกระทบของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพื่อเราจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามได้อย่างเหมาะสม และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไว้ได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com