แนะอธิษฐาน/สวดมนต์ได้ประโยชน์สัมพันธ์ 4 ระบอบชีวิต

โลกที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นส่งผลทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความยุ่งยาก วุ่นวาย และวิกฤตชีวิต มากขึ้น หลายคนเลือกหันกลับมาแสวงหาความสงบทางจิตใจหรือที่พึ่งทางใจ เช่น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ เป็นต้น


การอธิษฐานหรือการสวดมนต์มีประโยชน์หรือผลดีหลายประการ ไม่เฉพาะประโยชน์ทางด้านจิตใจ เช่น การทำให้เกิดสมาธิ การมีสติ การเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย การลดความเครียดหรือความวิตกกังวล การเยียวยารักษาจิตใจ เป็นต้น มีผลการศึกษาจำนวนหนึ่งระบุ การอธิษฐานหรือการสวดมนต์มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การบำบัดโรค เป็นต้น

ผมนำเสนอความคิดเอาไว้ในหนังสือ สร้างชาติด้วยธรรม: นำสยามสู่อารยะ เกี่ยวกับระบอบชีวิต 4 ระบอบ ประกอบด้วย ระบอบมนุษย์2 ระบอบชุมชน3 ระบอบธรรมชาติ4 และระบอบเทวะหรือระบอบข้ามมนุษย์5 มนุษย์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ 4 ระบอบนี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรมีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์กับ 4 ระบอบชีวิตดังกล่าวนี้ ควรมีประโยชน์มากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่ควรเกิดประโยชน์ครบทั้งต่อ ระบอบมนุษย์ ระบอบชุมชน ระบอบธรรมชาติ และระบอบเทวะหรือระบอบข้ามมนุษย์ ดังนี้

1.ระบอบมนุษย์ มนุษย์ประกอบด้วย กาย (Body) = ร่างกาย ใจ (Soul) = ความคิด การตัดสินใจ และอารมณ์ จิต (Spirit) = จิตวิญญาณ มนุษย์จะมีความสุขแท้จริงเมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าวนี้ได้รับการตอบสนองอย่างครบถ้วน เช่น การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีสำนึกผิดชอบชั่วดี เป็นต้น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรส่งเสริมให้มนุษย์ได้รับการตอบสนองครบทุกองค์ประกอบดังกล่าวนี้ บูรณาการชีวิตทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกัน เช่น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์เพื่อผู้อื่นหรือการแผ่เมตตาให้กับผู้อื่น การใคร่ครวญชีวิตของตนเองตามธรรมะหรือหลักธรรมคำสอน การระลึกถึงผู้อื่นและสังคมอย่างเป็นธรรม เป็นต้น

2.ระบอบชุมชน มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เช่น ครอบครัว ประชาคมโลก เป็นต้น ในการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนย่อมมีระบอบสิทธิอำนาจระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ภายใต้การปกครอง เช่น พ่อแม่ปกครองลูก ครูอาจารย์ปกครองนักเรียน หัวหน้า/ผู้นำปกครองลูกน้อง/ผู้ตาม ผู้นำอุดมการณ์ทางจิต (ผู้นำศาสนา) ปกครองสาวก/สมาชิกผู้ศรัทธา ผู้ปกครอง/รัฐปกครองประชาชน เป็นต้น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและกลุ่มคนต่าง ๆ เหล่านี้ดีขึ้น โดยมีธรรมะเป็นศูนย์กลางในการอธิษฐานหรือการสวดมนต์ เช่น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์เพื่อผู้ปกครองหรือผู้อยู่ใต้การปกครองหรือการแผ่เมตตาให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ การระลึกถึงกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมีธรรมะ ในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นต้น

3.ระบอบธรรมชาติ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์และธรรมชาติควรอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น พฤกษโลก (Plant Kingdom) สัตวโลก (Animal Kingdom) กายภาพโลก (Matter Kingdom) เช่น แผ่นดิน ภูเขา ทะเล แม่น้ำ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ฯลฯ จักรวาล (Universe/Cosmos) เช่น โลก ดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาว จักรวาล ฯลฯ เป็นต้น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างมีธรรม เช่น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์เพื่อสัตวโลก การแผ่เมตตาให้กับสัตว์ต่าง ๆ การระลึกถึงธรรมชาติด้วยใจขอบคุณ เป็นต้น

4.ระบอบเทวะ/ระบอบธรรมะหรือระบอบข้ามมนุษย์ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับระบอบเทวะ (ระบอบธรรมะ) หรือระบอบข้ามมนุษย์ สัจธรรมเป็นต้นธารของระบอบดังกล่าว มนุษย์ค้นพบสัจธรรมแล้วบางส่วนและบางส่วนมนุษย์กำลังแสวงหาอยู่ เช่น หลักธรรมคำสอนต่าง ๆ กฎธรรมชาติ กฎการอยู่ร่วมกัน กฎศีลธรรม เป็นต้น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรส่งเสริมให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับระบอบเทวะ-ระบอบธรรมะหรือระบอบข้ามมนุษย์ดังกล่าวนี้ดีขึ้น เช่น การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ตามสัจธรรม การสงบใจใคร่ครวญสัจธรรม เป็นต้น

การอธิษฐานหรือการสวดมนต์ควรเป็นประโยชน์ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ครบ 4 ระบอบชีวิต ได้แก่ ระบอบมนุษย์ ระบอบชุมชน ระบอบธรรมชาติ และระบอบเทวะ-ระบอบธรรมะหรือระบอบข้ามมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ปลดปล่อยตนเองจากความเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม ขัดเกลาจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนเองตามธรรม รวมถึงสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างมีจิตสำนึก

1 นำเสนอครั้งแรกในการประชุม ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

2 “ระบอบมนุษย์ หมายถึง การจัดการตัวตนภายใน โดยจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง ระหว่าง กาย ใจ และจิต ด้วยการให้ธรรมะเป็นศูนย์กลาง” “ในระบอบมนุษย์ ทุกคนจึงควรบูรณาการชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสมดุล โดยจิตเชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบอบเทวะในมิติจิตภาพ มีศรัทธาและยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน พร้อม ๆ กับมีธรรมะในความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคม มีสำนึกในความผิดชอบชั่วดี และใช้ชีวิตอย่างมีธรรม เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากที่สุด”

3 “ระบอบชุมชน หมายถึง ระบอบการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ภายใต้ระบอบสิทธิอำนาจ ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ในทุกระดับความสัมพันธ์ในชุมชน อาทิ ความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ปกครองลูก ความสัมพันธ์ในโรงเรียน ครูอาจารย์ปกครองนักเรียน ความสัมพันธ์ในองค์กรทำงาน หัวหน้า / ผู้นำ ปกครองลูกน้อง / ผู้ตาม ความสัมพันธ์ในศาสนา ผู้นำอุดมการณ์ทางจิต (ผู้นำศาสนา) ปกครองสาวก / สมาชิกผู้ศรัทธา และในขอบเขตของรัฐ ความสัมพันธ์ในระดับรัฐ ผู้ปกครอง / รัฐ ปกครองประชาชน ความสัมพันธ์ของปัจเจกในระบอบชุมชน ทุกระดับความสัมพันธ์จะต้องมีธรรมะเป็นศูนย์กลาง ธรรมะจะช่วยให้ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องเชื่อมโยงสอดสมานกับความสัมพันธ์ในมิติจิตภาพ หรือความสัมพันธ์ในระบอบเทวะ”

4 “ระบอบธรรมชาติ หมายถึง กฎธรรมชาติของสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ ระบอบพฤกษโลก (Plant Order) ระบอบสัตวโลก (Animal Order) ระบอบกายภาพโลก (Matter Order) อาทิ แผ่นดิน ภูเขา ทะเล แม่น้ำ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ฯลฯ ระบอบจักรวาล (Universe Order / Cosmic Order) อาทิ โลก ดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาว จักรวาล ฯลฯ มนุษย์ต้องสัมพันธ์กับระบอบธรรมชาติ โดยมีธรรมะกำกับ เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนพึ่งพาอาศัยกัน มีผลกระทบเชื่อมโยงกัน ระบบต่าง ๆ ต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างสมดุล มนุษย์จึงต้องไม่เป็นผู้ทำลายสมดุลของธรรมชาติ คำนึงการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ไม่ทำลายล้าง แต่รักษาให้ธำรงอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน อาทิ คำนึงว่าควรสัมพันธ์กับกายภาพโลก – แผ่นดิน น้ำ อากาศ อย่างไรจึงเกิดความยั่งยืนไม่ทำลายล้าง คำนึงว่าควรสัมพันธ์กับ สัตวโลก – สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์อย่างไร จึงเป็นการเกื้อกูลกันไม่ใช่การเบียดเบียนทำลายล้างกัน และคำนึงว่าควรสัมพันธ์กับ พฤกษโลก – ป่าไม้ พืชพันธุ์ต่าง ๆ อย่างไร จึงเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพสร้างความเจริญงอกงามได้ยั่งยืน”

5 “ระบอบเทวะ หรือ ระบอบข้ามมนุษย์ หมายถึง กฎเกณฑ์และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กำหนดโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ในมิติจิตภาพ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและรูปแบบความสัมพันธ์ในมิติกายภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ระบอบเทวะเป็นต้นธารแห่ง “หลักสัจธรรม” ทั้งปวง ทั้งที่มนุษย์ได้ค้นพบแล้วและยังแสวงหาอยู่ ระบอบเทวะเป็นผู้กำหนดกฎจักรวาล กฎธรรมชาติ กฎการอยู่ร่วมกัน และกฎศีลธรรม เป็นระบอบที่อยู่เหนือกาละ ดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ และอยู่เหนือเทศะ ไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่ ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ความจำกัดใด ๆ ของโลกกายภาพ”