แนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับประเทศไทย ตอน 1

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาหลายประการในปัจจุบัน เช่น การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การติดกับดักรายได้ปานกลาง ผลิตภาพแรงงานต่ำ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน เป็นต้น
.
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนทุนมนุษย์ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เห็นได้จากการที่ธนาคารโลกระบุ ผลการจัดอันดับดัชนีทุนมนุษย์ ปี พ.ศ. 2563 (Human Capital Index) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 63 จาก 216 ประเทศทั่วโลก
.
ผมนิยามคำว่า “ทุน” ว่าหมายถึง “ความเอกอุ” เนื่องจากทุนมีลักษณะเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถสร้างผลผลิตหรือสร้างคุณค่าได้ มีความคงทน ใช้แล้วไม่หมดไป สามารถสะสมได้ สามารถสร้างเพิ่มเติม หรืออาจทำซ้ำได้ แต่อาจเสื่อมค่าลงได้เช่นกัน
.
คำว่า ทุนมนุษย์แตกต่างจากทรัพยากรมนุษย์ เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิต ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ และให้ความหมายในเชิงปริมาณของแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ทุนมนุษย์ให้ความหมายในเชิงคุณภาพ คุณค่าและความสามารถของมนุษย์
.
หากประเทศไทยต้องการหลุดจากปัญหาต่างๆ และก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างจริงจัง
.
และการพัฒนาทุนมนุษย์ยังถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งเป็นสังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี ผมจึงเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ ไว้ดังนี้
.
1. การพัฒนาสุขสภาพ กาย ใจ จิต
การสำรวจวรรณกรรมทางวิชาการ พบว่า แนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์โดยส่วนใหญ่ถูกพิจารณาเฉพาะมิติร่างกายเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้น้ำหนักไม่ครบถ้วน เพราะมนุษย์ไม่ได้มีเพียงมิติร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีมิติจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ เจตนา และมิติทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก จิตมโนธรรม และจิตอุดมการณ์ด้วย และที่สำคัญกาย ใจ จิต นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ผมจึงเสนอว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ต้องพัฒนาครบและพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งสุขสภาพ กาย ใจ จิต
.
การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยควรได้รับการพัฒนาครบทั้งคน ระบบ และบริบท ทั้งการสร้างความตระหนักด้านสุขสภาพ (wellness) การพัฒนาความรู้และทักษะด้านสุขสภาพของประชาชน การพัฒนาคุณภาพของระบบสุขภาพ การศึกษา ครอบครัว สถาบันทางสังคม และสถาบันศาสนา รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมและระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวกับสุขสภาพ
.
ทั้งนี้ผมได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขสภาพของประเทศไทยว่า เราควรกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น “เมืองหลวงสุขสภาพโลก” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จุดแกร่งของประเทศไทยร่วมกับ การเป็นเมืองหลวงอาหารโลก เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก และเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาสุขสภาพของคนในประเทศ และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ เพราะอุตสาหกรรมสุขสภาพกำลังเติบโตทั่วโลก
.
ผมยังได้เสนอแนวคิดสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ (GoldenZone Wellness) กล่าวคือ การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในประเทศไทยที่ผู้คนมีอายุยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข เพื่อเป็นแบบอย่างและขยายผลการพัฒนาไปทั่วประเทศ และเพื่อรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาสุขสภาพองค์กรสู่องค์กรสร้างชาติ (Wellness Corporate Nation-Building)
.
ซึ่งเป็นความพยายามวางระบบเพื่อส่งเสริมสุขสภาพของคนในชาติที่อยู่ในองค์กรประเภทต่าง ๆ และช่วยสร้างบริบทให้เกิดความตระหนัก เห็นคุณค่าและความสำคัญของสุขสภาพ เพราะผมเชื่อว่าคุณภาพคนไม่สามารถเกิดได้จากการเข้าสู่ระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากสภาพที่ดีของมนุษย์ทั้งทางกาย ใจ จิต และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขสภาพด้วย
.
2. การพัฒนาการคิด 4 ทิศ: คิดเป็น คิดดี คิดบวก คิดครบ
การพัฒนาทุนมนุษย์มีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาความคิด เพราะความคิดเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของมนุษย์ “หากเปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้” ผมได้เสนอทฤษฎีกระบวนการแสดงออกของมนุษย์ (Dr. Dan’ s Human Manifestation Process Theory)
.
ระบุว่า การคิด (Thinking) นำไปสู่ การรู้ (Knowing) นำไปสู่ ความเป็นตัวตน (Being) นำไปสู่ วิถีชีวิต (Living) และนำไปสู่ การสำแดงหรือการแสดงออก เช่น การพูด การเขียน การกระทำ (Manifesting) ดังนั้นการเปลี่ยนคนอย่างยั่งยืน ต้องเปลี่ยนคนในส่วนลึกที่สุด คือ ความคิด
.
การพัฒนาทุนมนุษย์ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคิด ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิด “กระบวนคิด 4 ทิศ” ประกอบด้วย คิดเป็น (ทักษะการคิด: การคิด 10 มิติ) คิดบวก (ทัศนคติการคิด) คิดดี (คุณธรรมการคิด) คิดครบ (ระบบการคิด : คิดเป็นระบบ) เพื่อพัฒนาคนให้มีกระบวนคิดที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์การคิดที่มีพลัง และกระบวนคิดยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนากระบวนรู้ กระบวนปัญญา และกระบวนธรรมะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคสังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี
.
3. การพัฒนาวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต
การพัฒนาทุนมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ไม่ได้มีเพียงการพัฒนาความรู้ของมนุษย์เท่านั้น แต่ควรได้รับการพัฒนาทั้ง “ความรู้ ปัญญา ความดี” ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อให้สามารถนำทั้งสามสิ่งนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาทั้งสามด้านนี้ ผมเรียกว่า การพัฒนาวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต
.
1) ด้านวิชาการ คือ การพัฒนาเพื่อให้ได้ “ความรู้” ซึ่งต้องทำให้คนมีทั้งความรู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล สามารถเลือกประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างเหมาะสม โดยการจัดหลักสูตรให้มีการบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ การนำแต่ละวิธีการเรียนรู้มาผสมผสานให้ได้มาซึ่งความรู้ที่หลากหลาย การส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้าได้ง่าย การส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการจัดระบบทดสอบและเทียบโอนความรู้จากการศึกษาในโหมดต่าง ๆ
.
2) ด้านวิชาชีพ คือ การพัฒนาเพื่อให้ได้ชุดสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ทำงานได้จริง ซึ่งการพัฒนาด้านวิชาชีพจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นบนฐาน “ความรู้ ปัญญา ความดี” เพื่อให้มีความเข้าใจพื้นฐานความรู้ที่รองรับแนวปฏิบัติ มีปัญญาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม และอยู่บนฐานคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติวิชาชีพ ทั้งนี้การพัฒนาด้านวิชาชีพควรคำนึงถึงสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแต่ละยุคสมัยและสอดคล้องกับจุดแกร่งและทิศทางการพัฒนาชุมชนและประเทศ อาทิ ความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย การคิดค้นนวัตกรรม การจัดการ การประกอบการ การทำงานเป็นทีม การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาสุขสภาพ การอภิบาลคนชรา ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
.
3) ด้านวิชาชีวิต คือ การพัฒนา “ความรู้ ปัญญา ความดี” ที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและส่วนรวม โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาและความดี เพราะปัญญาเป็นมากกว่าความรู้และเป็นฐานของความดี คนมีความรู้อาจจะไม่มีปัญญา และการมีปัญญาจะนำไปสู่ความดี และมีเป้าหมายในการสร้างคนให้เป็นคน “ดี เก่ง กล้า” ตัวอย่างแนวทางการพัฒนาวิชาชีวิต เช่น การศึกษาเพื่อให้เข้าใจหลักปรัชญาชีวิตที่ดีแท้ งามแท้ จริงแท้ การศึกษาปรัชญาการอยู่ร่วมกันในสังคมที่พึงประสงค์ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจตนเอง การพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ การพัฒนาจิตสาธารณะ การพัฒนาทักษะทางสังคม การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่พลเมือง เป็นต้น
.
การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นยุทธศาสตร์คานงัดที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และจำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยการพัฒนาทั้งกาย ใจ จิต การพัฒนากระบวนคิด และการพัฒนาครบทั้งความรู้ ปัญญา และความดี นอกจากนี้ ผมยังมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สำคัญอีก 3 ประการ ซึ่งจะนำเสนอในบทความต่อไป
.
ที่มา : www.cioworldbusiness.com 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *