แนวคิดดร. แดน ผลิตกำลังคนป้อน รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ : กรณีตัวอย่างฮาร์วาร์ด

วิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) เป็นอีกหนึ่งวิทยาลัยที่เป็นที่นิยมอย่างมากของฮาร์วาร์ด แต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมาก เฉพาะปีการศึกษาที่ผ่านมามีผู้สำเร็จจากวิทยาลัยดังกล่าวนี้ถึง 934 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 922 คน และระดับปริญญาเอก 12 คน เป็นอันดับ 3 รองจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College) และบัณฑิตวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Graduate School of Art and Science) ศิษย์เก่าจากวิทยาลัยแห่งนี้มีจำนวนมากที่ดำรงตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญในหน่วยงานหรือองค์กรชั้นนำระดับโลก

สนับสนุนกิจกรรมเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน

การเรียนการสอนที่วิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ดนอกจากจะให้ความสำคัญกับกรณีศึกษา (Case Study) ที่เป็นเสมือนหัวใจของวิทยาลัยแล้ว ยังออกแบบให้มีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงเป็นทีมขนาดเล็กร่วมกัน คิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ เดินทางท่องเที่ยวชมตลาดเกิดใหม่ มีส่วนทำงานร่วมกับหุ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วโลก อาทิ องค์กรธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สัมภาษณ์ผู้บริโภค พัฒนาความคิด และนำเสนอโครงร่างงานให้กับหุ้นส่วนระดับโลก ทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษาแล้ว การทำงานเป็นทีมร่วมกันยังส่งผลช่วยบ่มเพาะหล่อหลอมความเป็นผู้นำให้แก่นักศึกษาอีกทางหนึ่ง (Into the FILED, 2015) เป็นประโยชน์กับนักศึกษาในการเตรียมพร้อมสู่ชีวิตการทำงานในอนาคต

สร้างหุ้นส่วนเชื่อมการเรียนรู้สู่บริบทการใช้งานจริง

การใช้กรณีศึกษา การเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานร่วมกับหุ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วโลก และการให้นักศึกษาฝึกฝนลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง เป็นการพยายามสร้างสะพานเชื่อมนักศึกษาสู่โลกของการใช้งานจริง พัฒนานักศึกษาให้มิเพียงมีความรู้ แต่ให้รู้จักสามารถประยุกต์เชื่อมโยงความรู้สู่โลกความเป็นจริง อันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบริบทการทำงาน เป็นการช่วยเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมทั้งทางด้านความรู้และทักษะที่สำคัญจำเป็นครบถ้วน ส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาสามารถก้าวสู่ตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญในหน่วยงานหรือองค์กรในอนาคต 

นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างฮาร์วาร์ดและหุ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วโลก ยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เป็นบริบทสำคัญให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทดลองลงมือปฏิบัติจริง อันจะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และความเข้าใจที่แจ่มกระจ่างชัดเจนและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย  

มหาวิทยาลัยควรจัดการศึกษาเตรียมสร้างผู้เรียนตามที่ผมเคยเสนอแนวคิดให้มีสมรรถนะการทำงานครบถ้วนบนฐานสมรรถนะแบบบูรณการ : KSL 31220 Model1  ที่มุ่งสร้างผู้เรียนให้มีทั้งความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต อย่างสมดุลครบถ้วน (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559, น. 31) เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมสามารถปฏิบัติงานได้จริง 

ปัจจุบันแม้ว่าการผลิตกำลังคนคุณภาพป้อนสู่ภาคธุรกิจจะมีความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายการเป็นประเทศไทย 4.0 ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ แต่มหาวิทยาลัยยังต้องทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพระดับสูงป้อนสู่ภาครัฐกิจและประชากิจหรือประชาสังคม2  ด้วยเช่นกัน ด้วยว่าภาคส่วนดังกล่าวนี้ยังขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพอยู่มาก โดยแนวทางการผลิตกำลังคนป้อนสู่ภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ ของมหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกับบริบทการใช้งานจริง เน้นเตรียมกำลังคนให้พร้อมสำหรับการทำงานในบริบทสภาพแวดล้อมแห่งอนาคตที่ทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวนักศึกษาเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และประเทศชาติสังคมด้วยอีกทางหนึ่ง 

รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2559, 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม). โมเดล KSL 31220 เทียบกับคุณภาพการสอนการเรียนรู้ของฮาร์วาร์ด. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 63(24), 31.
7,738 degrees, certificates awarded at Harvard’s 365th Commencement. (2016, May 26). Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/05/7738-degrees-certificates-awarded-at-harvards-365th-commencement/
Into the FILED. (2015, January 26). Retrieved from http://www.hbs.edu/about/video.aspx?v=1_0feqao90


1  แนวคิดสมรรถนะบูรณการ : KSL 31220 Model เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดมหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะ (Araya University) ตามการแบ่งมหาวิทยาลัย 7 ยุค เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอย่างเป็นทางการใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชนครั้งที่ 4 จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 .
2  เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอในการบรรยายหัวข้อ ศึกษิตกับการสร้างประเทศไทย: ประชากิจ ธุรกิจ รัฐกิจ จัดโดย มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งคุณธรรม วันเสาร์ที่ 15 ส.ค. 2558.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 21 วันศุกร์ 3 – พฤหัสบดี 9 กุมภาพันธ์ 2560

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.makemoneyinlife.com/wp-content/uploads/2016/07/149035-Harvard-Business-School.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *