นครราชสีมาขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากรสูงถึง 2.6 ล้านคน เป็นแหล่งศูนย์กลางความเจริญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เห็นได้จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) สูงถึง 2.9 แสนล้านบาท เป็นอันดับที่ 11 ของประเทศ แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 97,963 บาทต่อปี เป็นอันดับที่ 35 ของประเทศ
โครงสร้างเศรษฐกิจของนครราชสีมา ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรมร้อยละ14.24ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 34.06 และ ภาคบริการ ร้อยละ 51.70 เห็นได้จากนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มาก เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทำเลที่ตั้งยังเหมาะต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม จึงมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายในช่วง 10 ปีหลัง และ นครราชสีมายังเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และวังน้ำเขียว มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี จึงทำให้ธุรกิจบริการมีความเจริญเติบโตสูงมาก
.
อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะวิกฤตโควิดที่ยาวนานจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างรุนแรง การดำเนินธุรกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จังหวัดนครราชสีมาและองค์กรธุรกิจต้องมียุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวในการอยู่รอด และเจริญเติบโตได้แม้ในภาวะวิกฤตนี้ ผมขอเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์พลิกฟื้นนครราชสีมาระยะยาวเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในโคราช 3 ประการ ดังนี้
.
1. เมืองศูนย์กลางธุรกิจ การค้า และการขนส่งในอนุภูมิภาค โคราชมีโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยสามารถเป็นศูนย์กลางทางการค้า ที่ตั้งของสำนักงาน และศูนย์กระจายสินค้าในอนุภูมิภาคได้ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งเป็นประตูสู่ภาคอีสาน การคมนาคมมีจุดเชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับกลุ่มในประเทศ ใน GMS อาทิ ประเทศลาว เวียดนาม และ จีนตอนใต้
.
ผมมีหัวข้อเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองโคราชเพื่อผ่านวิกฤต 4 ด้าน ประกอบด้วย
.
1) ยุทธศาสตร์หัวเข็มขัด (One Belt One Buckle) โดยเสนอให้ร่วมมือในการพัฒนาบางพื้นที่ในโคราชเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่อยู่นอกประเทศจีน การสร้างเมืองใหม่และจัดตั้งสาขาของมหาลัยที่ดีที่สุดของจีนในเมืองดังกล่าว
.
2) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนในธุรกิจการค้าและโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาโคราชเป็นแหล่งที่ตั้ง สำนักงาน ศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการค้าและขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
.
3) ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เนื่องจากโคราชเป็นฮับของระบบรางและถนนในภาคอีสานและเชื่อมกับภาคอื่น ๆ และยังจะมีการลงทุนในระบบรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต โคราชควรใช้โอกาสนี้ โดยการดึงการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรางและโลจิสติกส์ อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง แหล่งอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ มาลงทุนในจังหวัด
.
4) ยุทธศาสตร์ RuLink – UrLink โดย RuLink คือการเชื่อมต่อเมืองกับชนบท เพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจเข้าสู่เขตชนบทมากขึ้น เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดอยู่ในเขตชนบท ส่วน UrLink คือการเชื่อมต่อโคราชกับหัวเมืองใหญ่อื่น เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองโคราชกับเมืองอื่น ๆ
.
2. เมืองอาหารมูลค่าเพิ่มสูงและปลอดภัย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของโคราชทำการเกษตรกรรม ซึ่งมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับการเกษตรกร โดยพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์การเกษตรและ อาหารเพื่อให้เป็นห่วงโซ่อุปทานอาหารมูลค่าเพิ่มสูงและปลอดภัย (High-Added and Safety Food Chain) เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของจังหวัด
.
ผมมีข้อเสนอยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตรกรรมในโคราช 3 ด้าน คือ
.
1) การย้ายแรงงานออกจากภาคการเกษตร ประชากรในภาคเกษตรมีรายได้ต่ำกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ำ จึงจำเป็นต้องย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร ซึ่งอาจจะฝึกทักษะแรงงานและสนับสนุนให้ย้ายไปยังภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตรในโคราชที่ขยายตัวและต้องการกำลังคนจำนวนมาก
.
2) การเพิ่มผลผลิตภาพการเกษตร โดยส่งเสริมการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงาน และเน้นการทำตลาดมากขึ้น
.
3) การเพิ่มมูลค่าของภาคการเกษตร โคราชมีศักยภาพในการพัฒนาผลผลิตอาหารและการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ ผักปลอดสารพิษ พืชเมืองหนาว ที่สามารถปลูกได้บนที่สูง เช่น วังน้ำเขียว ผลไม้นานาชนิด เช่น น้อยหน่าเพชรปากช่อง กล้วย แตงโม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อวัว และนมวัว จังหวัดควรส่งเสริมอัตลักษณ์ของแต่ละอำเภอ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ของแต่ละอำเภอ เพื่อสร้างจุดขายและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ
.
3. เมืองท่องเที่ยวสีเขียวและการพำนักระยะยาว โคราชมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โคราชยังมีศักยภาพในการจัดกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย อีกทั้งการเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพ ปริมณฑล และ EEC ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย
.
การพัฒนาโคราชซึ่งมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างน้อย 7 ด้าน เพื่อฟื้นธุรกิจในระยะยาวและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด
.
1) ยุทธศาสตร์ Natural + Artificial Tourist Attractions โดยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว สร้างแลนด์มาร์ค และพัฒนาอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวแต่ละอำเภอเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
.
2) ยุทธศาสตร์ Design and Creative Economy โดยใช้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
.
3) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านกีฬาและนันทนาการ อาทิ การสร้างสวนสนุก พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา Geo Park การพัฒนาอ่างเก็บน้ำ เพื่อกิจกรรมกีฬาทางน้ำ
.
4) ยุทธศาสตร์การจัดกิจกรรมระดับโลก อาทิ การแข่งขันกีฬาระดับโลก การแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เพื่อทำให้แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น
.
5) ยุทธศาสตร์เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง อาทิ เส้นทาง โคราช-บุรีรัมย์ โคราช-ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์
.
6) ยุทธศาสตร์พัฒนาโคราชเป็นบ้านหลังที่ 2 โดยส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การสร้างบ้านพักตากอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่เขาใหญ่ และวังน้ำเขียว
.
7) ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการพัฒนาศูนย์การแพทย์ในภูมิภาค และดึงการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล และบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเข้ามาในจังหวัด
.
แม้สถานการณ์โควิดจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาส หากเรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม และทำงานหนักมากพอ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจและพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้