ผมเคยนำเสนอความคิดมานานเกี่ยวกับการเรียนรู้ทุกคน ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มคนสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงการเรียนรู้ เช่น คนปกติ – คนพิการ คนอ่อนวัย – คนวัยผู้สูงอายุ คนปัญญาเลิศ – คนปัญญาด้อย คนไทย – คนเทศ คนมีฐานะ – คนยากจน คนมีการศึกษา – คนไร้การศึกษา เป็นต้น ให้คนทุกกลุ่มที่ต้องการเรียนรู้เข้าถึงการเรียนรู้[1] มีส่วนสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยว่าการเรียนรู้จะทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิด ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
การศึกษาในฐานะภาคส่วนแห่งความรู้และเป็นแหล่งสร้างกำลังคนป้อนสู่สังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพชั้นสูงควรมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนส่งเสริมให้สังคมและคนทุกกลุ่มเกิดการเรียนรู้ ไม่เฉพาะเพียงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น แต่ครบถ้วนทุกกลุ่มคนมากที่สุดเท่าที่สามารถเป็นไปได้
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้สู่ทุกกลุ่มคนดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล เป็นต้น การส่งเสริมการเรียนรู้สู่ทุกกลุ่มคนของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ยังรวมถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเรือนจำด้วย
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาในเรือนจำ (Prison Education) เป็นการประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ถูกจองจำและนักรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง (activist) มาร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน การประชุมดังกล่าวนี้จัดขึ้นเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 วัน หัวข้อการประชุมคือ เกินกว่าประตูทางออก : อดีตและอนาคตของการศึกษาในเรือนจำ ณ ฮาร์วาร์ด (Beyond The Gates: The Past and Future of Prison Education at Harvard)
ก่อนหน้านี้ฮาร์วาร์ดมีความเกี่ยวข้องกับเรือนจำมาเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่นักศึกษาวิทยาลัยดิวินิตี้ (Divinity School) ช่วยเป็นติวเตอร์ให้กับผู้ถูกจองจำ ณ เรือนจำชาร์ลทาวน์ (Charlestown State Prison) ที่เมืองบอสตัน (Boston) ในปี ค.ศ. 1833 ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดออกแบบเรือนจำนอร์ฟอล์ก (Norfolk Prison) ให้ดูเหมือนวิทยาลัยเพื่อกระตุ้นสำนึกของความเป็นชุมชน และในช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1959 Phillips Brooks House Association ได้ก่อตั้ง Harvard Organization for Prison Education and Reform ขึ้น สำหรับให้บริการติวเตอร์แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง และเยาวชน ในเรือนจำเป็นประจำทุกสัปดาห์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับการศึกษาในระดับวิทยาลัยและหลังวิทยาลัย (college and post-college degree classes) แก่ผู้ถูกจองจำจนกระทั่งปัจจุบัน[2]
การศึกษาในเรือนจำของฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มเกิดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่ถูกจองจำที่ต้องการเรียนรู้เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างสะพานเชื่อมต่อการเรียนรู้สู่กลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม อันไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อกลุ่มบุคคลที่ถูกจองจำเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมการอยู่ร่วมกันอีกทางหนึ่ง
[1] ผมนำเสนออย่างเป็นทางการในงานเสวนาหัวข้อ การรู้หนังสือกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน งานที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ณ ห้องมหกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต จังหวัดปทุมธานี (คลอง 6) วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558.
[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/03/prison/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 45 วันศุกร์ 20 – พฤหัสบดี 26 กรกฎาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com