คนไทยจำนวนมากกำลังจับตามองการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะมีการลงมติเกี่ยวกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2.65 แสนไร่ เพื่อนำไปจัดสรรให้ประชาชนเป็นพื้นที่ทำกิน การตัดสินใจครั้งนี้ได้จุดชนวนกระแส #SAVEทับลาน ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ สะท้อนความกังวลของสาธารณชนต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ โดยฝ่ายสนับสนุนมองว่าควรมีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและรับรองสิทธิชุมชน ขณะที่ฝ่ายคัดค้านกังวลผลกระทบต่อระบบนิเวศและการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ #SAVEทับลาน จึงเป็นทั้งการเรียกร้องอนุรักษ์ป่าและตั้งคำถามถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นกระแสเขียวตกขอบ โดยอ้างว่าไม่คำนึงถึงกฎหมายและสิทธิของผู้ครอบครองที่ทำกิน คำถามคือ ทางออกของประเด็นนี้ควรเป็นอย่างไร
- ความเป็นมาของปัญหา
พื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ที่มีการริเริ่มโครงการ ส.ป.ก. โดยมีการจัดสรรที่ดินทำกินและอพยพประชาชนมาจัดตั้งชุมชนในพื้นที่นี้ เช่น ชุมชนมูลหลง และมูลสามง่าม ต่อมาในปี พ.ศ.2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งไปทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินที่มีอยู่เดิมและที่ดินของกรมธนารักษ์ และ คณะรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น ก็มีมติเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนและให้นำป่าสงวนจัดสรรเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ด้วย
ต่อมาช่วงปี พ.ศ.2540 รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้พยายามแก้ปัญหาทับลาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมปรับปรุงแนวเขต ซึ่งได้ประกาศผลการศึกษาแนวเขตใหม่ในปี พ.ศ.2543 ให้มีการขยายพื้นที่อุทยาน แต่ก็ไปทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก. จนกระทั่งปี พ.ศ.2561 ชาวบ้านได้ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่า กรมอุทยานฯ ได้ประกาศพื้นที่อุทยานทับที่อยู่อาศัย ทำให้ ครม. ในเวลานั้นมีมติเห็นชอบให้กันพื้นที่ประมาณ 2.65 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.52 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ให้แก่ ส.ป.ก.
จนกระทั่งปี พ.ศ.2567 กรมอุทยานฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนว่า จะปรับแนวเขตให้เป็นไปตามผลการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2543 หรือให้ใช้แนวเขตใหม่ตามมติ ค.ร.ม.ปี พ.ศ.2561 เนื่องจากกรมอุทยานฯ ไม่ไว้วางใจในกระบวนการปรับแนวเขตในครั้งนี้ว่า จะมีส่วนเอื้อให้นายทุนหรือนักการเมืองได้ประโยชน์หรือไม่ และเป็นที่มาของกระแส #saveทับลาน ในเวลานี้
- ข้อถกเถียงของทั้ง 2 ฝ่าย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการเพิกถอนพื้นที่นี้ โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
2.1 ฝ่ายที่เห็นด้วย ให้เหตุผลสนับสนุนการปรับแนวเขตพื้นที่อุทยาน ดังนี้
1) พื้นที่ที่จะถูกเพิกถอนไม่ได้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นพื้นที่ชายป่าที่มีลักษณะเป็นชุมชนมากกว่า ดังนั้นการปรับแนวเขตจึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่สำคัญ
2) คืนความยุติธรรมแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มาก่อนปี พ.ศ.2524 เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยขาดการสำรวจที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนอย่างละเอียด การปรับแนวเขตจะช่วยให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับความยุติธรรม จากคดีการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ที่ยืดเยื้อมานาน
3) ทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินมีความสมบูรณ์ การปรับแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ จะทำให้ชาวบ้านได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อุทยานฯ เท่านั้น โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในการคุ้มครองในมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2562 ที่ได้มีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนที่ไม่มีที่ทำกินและชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่มา 20 ปีขึ้นไป
4) ป้องกันการบุกรุกป่าในอนาคต เพราะการปรับแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ จะทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่มีการทับซ้อนเหมือนในอดีต
2.2 ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ดังนี้
1) เป็นช่องโหว่ให้ผู้บุกรุกป่าและกลุ่มนายทุนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เป็นกระบวนการที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ และกลุ่มนายทุน เพราะการให้สิทธิถาวรหรือกรรมสิทธิ์แก่ผู้บุกรุกป่า อาจนำไปสู่การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินไปสู่นายทุน การดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การสร้างรีสอร์ตหรือบ้านพักตากอากาศ และจูงใจให้เกิดการบุกรุกป่าซ้ำ เหมือนดังที่เกิดขึ้นแล้วอย่างดาษดื่นในปัจจุบัน
2) ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามและแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่า โดยกลุ่มผู้คัดค้านเสนอว่า ภาครัฐต้องให้สิทธิเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยมาก่อนปี พ.ศ.2524 เท่านั้น โดยต้องตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิอย่างเข้มงวด และดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ รวมทั้งเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศ โดยห้ามกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยาน
3) กระทบต่อสถานะมรดกโลกทางธรรมชาติ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงแนวเขตอาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นมรดกโลกของพื้นที่ดังกล่าว
4) สร้างบรรทัดฐานในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทั่วประเทศ หากกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับพื้นที่อื่นที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก
5) ขัดต่อเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ขัดแย้งกับเป้าหมายในการรักษาพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเป็นการลดทอนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของประเทศ
- ข้อเสนอแนะ
ผมคิดว่าทุกฝ่ายล้วนมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่ข้อเสนอหรือความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายนั้น อาจนำเสนอข้อมูลบางด้าน บางมุมมอง ที่อาจไม่ได้คิดในมิติต่าง ๆ อย่างครบถ้วน
การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิของชุมชนท้องถิ่น โดยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้ในระดับอุตมภาพ (optimum) ประกอบกับปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่และการจัดการที่ดินในเขตอนุรักษ์เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซึ่งต้องการการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อหาทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนี้
1) กรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างรัฐกับรัฐ (ส.ป.ก. vs อุทยาน)
ภาครัฐต้องดำเนินการเพื่อสรุปแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน ตรงกัน และเป็นธรรมต่อทุกหน่วยงานและทุกฝ่าย และมีการออกกฎหมายรับรองแนวเขตที่ดินใหม่อย่างชัดเจน ทั้งนี้หากแนวเขตที่ดิน ส.ป.ก. ถูกต้อง กรมอุทยานฯ ควรปล่อยให้ ส.ป.ก. ดูแลบริเวณนั้นต่อไป แต่หากแนวเขตของอุทยานฯ ถูกต้อง จะต้องดำเนินการเรียกคืนพื้นที่เพื่อฟื้นฟูกลับไปเป็นผืนป่า แต่กระนั้นภาครัฐควรจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.ที่ไม่ถูกต้อง (เพราะเป็นความผิดของรัฐ) แต่หากภาครัฐไม่ต้องการเรียกคืนพื้นที่ ส.ป.ก.บางแห่งเพื่อฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่า อาจอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินต่อไปได้
2) กรณีประชาชนอยู่อาศัย “ก่อน” การประกาศกฎหมาย (ประชาชน vs รัฐ + มรดกโลก)
แม้จะมีกฎหมายห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แต่เนื่องด้วยการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนบางส่วนเข้าไปบุกเบิกเพื่อทำกินและอยู่อาศัยแล้ว ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาถึงสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อน โดยอาจอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น เงื่อนไขการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม เงื่อนไขการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เงื่อนไขการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น แต่หากประชาชนละเมิดเงื่อนไข ภาครัฐอาจพิจารณายึดที่ดินคืน โดยมีการเยียวยาอย่างเหมาะสม
3) กรณีประชาชนอยู่อาศัย “หลัง” การประกาศกฎหมาย (ประชาชน vs รัฐ + มรดกโลก)
ในกรณีนี้ ภาครัฐอาจปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่ (พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2562 มาตรา 64) โดยให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินได้ในพื้นที่อุทยานฯ ตามสิทธิเท่าที่ได้รับอนุญาต แต่ไม่มีสิทธิถาวร รัฐสามารถยึดคืนพื้นที่ได้หากจำเป็น แต่อาจจัดสรรพื้นที่ทดแทนและเยียวยาอย่างเหมาะสม และหากที่ดินมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ รัฐควรยึดที่ดินคืนและพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมาย
4) กรณีประชาชนขายพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย (ประชาชน vs รัฐ + มรดกโลก)
กรณีที่ประชาชนที่ได้รับสิทธิทำกินในพื้นที่ป่าหรือในที่ดิน ส.ป.ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ขายสิทธินั้นแก่ผู้อื่น ยกเว้นการโอนสิทธิให้ทายาท แต่กลับทำการขายสิทธิให้กับผู้อื่น ภาครัฐควรยึดคืนสิทธิการครอบครองให้แก่รัฐโดยเร็ว และแก้ปัญหาด้วยกฎหมายเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและไม่ให้กลับมาทำผิดอีก
5) กรณีนายทุนครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมาย (นายทุน vs รัฐ + มรดกโลก)
หากการตรวจสอบพบว่า นายทุนที่เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าหรือ ส.ป.ก. โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ภาครัฐควรยึดคืนพื้นที่และดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อลงโทษต่อนายทุน นอกจากนี้ภาครัฐควรพิจารณาถึง การใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ เช่น การออกกฎหมายพิเศษให้รัฐสามารถครอบครองสิ่งปลูกสร้างนั้น และให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐต่อไปได้ พร้อมทั้งมีการเรียกค่าชดเชยจากนายทุนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นและผลประโยชน์ที่ได้รับไปแล้ว
6) กรณีประชาชนอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. โดยไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน
ในกรณีนี้ แม้ประชาชนจะไม่มีความผิดตามกฎหมาย แต่ภาครัฐอาจมีการพิจารณาการจัดการพื้นที่ในภาพรวมและในระยะยาว โดยการศึกษาความเหมาะสมในเชิงวิชาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการให้ประชาชนทำกินต่อไปหรือการเวนคืนที่ดิน โดยหากจำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน ควรมีการชดเชยให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรม
การแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าและที่ดินทำกินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ภาครัฐควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และหาแนวทางแก้ไขที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน