ฮาร์วาร์ดทำสิ่ง “เลอค่า” ห้องสมุดกฎหมายแบบดิจิตอล

การศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 ของฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการ รวมถึงการขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสนองตอบความต้องการของกลุ่มคนที่แตกต่างจากกลุ่มนักศึกษาปกติมากขึ้น อาทิ การผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับเนื้อหาและวิธีการสอน การใช้สื่อผสมสมัยใหม่หลากหลายประเภท การนำระบบการศึกษาและการเรียนรู้แบบออนไลน์มาใช้ให้บริการกับกลุ่มนักศึกษาและคนทำงานที่ต้องการรูปแบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นสูงและเหมาะสมกับรูปแบบการใช้เวลาของตนเอง เป็นต้น     

การใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการ และช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) โดยการสนับสนุนขององค์กรที่ชื่อว่า ราเวล ลอว์ (Ravel Law) ได้จัดเก็บรวบรวมกฎหมายสหรัฐฯ ที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก ให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล หรือที่เรียกว่า Free the Law2  ประกอบด้วยหนังสือ 40,000 เล่ม บรรจุการตัดสินใจของศาลสหรัฐฯ ประมาณ 40 ล้านหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติ นักศึกษาทางด้านกฎหมาย และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยกระบวนการจัดเก็บเอกสารดังกล่าวนี้ใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพความเร็วสูงที่สามารถสแกนเอกสารได้มากถึง 500,000 หน้าต่อสัปดาห์   

ปัจจุบัน Free the Law เป็นหนึ่งในแหล่งรวบรวมวัสดุทางกฎหมาย ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีแผนจัดเก็บหลักกฎหมายสหรัฐฯ ที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นหลักแห่งอำนาจศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา ขณะที่หลักกฎหมายสหรัฐฯ ที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นหลักทั้งหมดคาดว่าจะถูกจัดเก็บให้แล้วเสร็จภายในกลางปี ค.ศ. 2017 อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อกลุ่มบุคคลทั่วโลกที่สนใจศึกษาและเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้

Free the Law เป็นตัวอย่างการคิดริเริ่มของฮาร์วาร์ดที่ใช้ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนและส่งเสริมให้การเข้าถึงการเรียนรู้ทางด้านกฎหมายสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และสามารถทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อันเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยไทยในการศึกษาเรียนรู้ ดังนี้

ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริมพลังการเรียนรู้ มีผลช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ทางด้านกฏหมายให้มีมิติความกว้างและความลึกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางให้คนทุกกลุ่ม ทุกประเภท สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายสหรัฐฯ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้

เป็นคลังความรู้ทางด้านกฎหมายที่สำคัญของโลก โดยการเก็บรวบรวมหลักกฎหมายสหรัฐฯ ที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นหลักรวบรวมไว้ให้อยู่ในที่แห่งเดียวกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นหา เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ทุกประเภท    

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย 

ผมนำเสนอแนวคิดมูลค่า คุณค่า และเลอค่า3  เอาไว้ในหลายเวทีอย่างไม่เป็นทางการและเป็นทางการมานานปี โดยในนิยามของผม “มูลค่า” “คุณค่า” และ “เลอค่า” มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ มูลค่าเป็นสิ่งที่สามารถตีเป็นราคาหรือตัวเงินได้ แต่อาจจะไม่มีคุณค่า อาทิ การจัดบริการการศึกษาที่เน้นปริมาณ ไม่สนใจคุณภาพ เช่น ขายปริญญา จ่ายครบจบแน่ แม้จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีคุณค่าใด ๆ ตรงกันข้ามสิ่งที่มีคุณค่าสูงอาจเป็นสิ่งที่มีมูลค่าน้อย อาทิ การที่ในบางครั้งมหาวิทยาลัยอาจยอมเปิดหลักสูตรบางวิชาที่ไม่เป็นที่นิยม แต่เป็นความต้องการจำเป็นของประเทศ แต่สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดกว่าการมีคุณค่าใด ๆ และเกินกว่าที่จะสามารถประมาณมูลค่าหรือคุณค่าได้ ผมเรียกว่าเป็นสิ่งที่ “เลอค่า”  

ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรทำภารกิจที่สร้างมูลค่าแบบมีคุณค่า ด้วยว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสามารถอยู่รอดได้ในโลกของการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต แต่การทำภารกิจที่มีมูลค่าและคุณค่าเพียงเท่านั้นไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยต้องทำภารกิจที่เลอค่าบนพื้นฐานจุดแกร่งการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเองอย่างจริงจัง มิใช่เพียงแค่ ผิวเผิน อาทิ การอุทิศตัวค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่และกระจายองค์ความรู้ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การบูรณาการความรู้แขนงต่าง ๆ มาใช้แก้ปัญหา ค้นคว้า พัฒนาสิ่งต่าง ๆ เจาะจงประเด็นที่เป็นความต้องการของท้องถิ่น เป็นต้น 

ผมเชื่อว่า ด้วยแนวทางดังกล่าวนี้จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติภารกิจของตนเองได้อย่างครบถ้วนแท้จริงเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ดครับ 
 


1แนวคิดมูลค่า คุณค่า และเลอค่า ผมนำเสนอคำใหม่ “เลอค่า” ที่ผมสร้างขึ้นอีกครั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 2 (International Conference on Management Science, Innovation and Technology 2015) บรรยายเรื่อง ข้อเสนอแบบจำลองใหม่ : “ยุทธศาสตร์การบริหาร” (Model of Management Strategies) จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วันที่ 12 มิ.ย. 2558.
2Harvard gazette. “Free the Law” will provide open access to all. [Online], accessed November 29, 2015, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2015/10/free-the-law-will-provide-open-access-to-all/
3อ้างถึงแล้ว.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 13 วันที่ ศุกร์ 11 – พฤหัสบดี 17 ธันวาคม 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  https://bol.bna.com/wp-content/uploads/2015/11/Harvard-Law-School-Library1-e1447355214740.jpg00

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *