ฮาร์วาร์ดชี้คนกลางประสาน คือ ปัจจัยความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือ

ความร่วมมือ (cooperation) เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน ปัจจุบันสถาบันการศึกษาจำนวนมากทั่วโลกส่งเสริมให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันดังกล่าวนี้ ด้วยว่าการร่วมมือกันนำสู่ผลลัพธ์มากกว่าต่างคนต่างทำ นอกจากการปฏิบัติทางด้านความร่วมมือแล้วในที่นี้ยังรวมถึงการคิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนี้ให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการศึกษาแง่มุมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้การรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งขึ้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาทางการศึกษาด้วย

เมื่อไม่นานมานี้มีผลงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือชิ้นหนึ่ง เรื่อง “Conjoining uncooperative societies facilitates evolution of cooperation” ถูกตีพิมพ์ในบทความตีพิมพ์ลงในวารสารธรรมชาติพฤติกรรมมนุษย์ (Nature Human Behavior) [1]

นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนี้ประกอบด้วยบาบาค โฟทูไฮ (Babak Fotouhi) นักวิจัยหลังปริญญาเอกทางด้านคณิตศาสตร์ชีววิทยาที่ฮาร์วาร์ด และมาร์ติน โนวัก (Martin Nowak) ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านคณิตศาสตร์และชีววิทยาที่ฮาร์วาร์ดและผู้อำนวยการโปรแกรมพลวัตวิวัฒนาการ (Program for Evolutionary Dynamics) รวมทั้งนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และวิทยาลัยเอมมานูเอล (Emmanuel College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

งานศึกษานี้มีความน่าสนใจตรงที่มีการใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างซับซ้อน เพื่อศึกษาประเด็นทางสังคมเรื่องพลวัตรความร่วมมือในสังคมที่มีความกระจัดกระจาย และ แสดงให้เห็นว่าการรวบรวมกลุ่มย่อยที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายและไม่ค่อยร่วมมือกัน หากทำอย่างถูกต้องแล้วจะสามารถนำไปสู่ความร่วมมือที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

บทความดังกล่าวนี้แนะนำว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสามารถกระตุ้นความร่วมมือได้ และโครงสร้างของกลุ่มมีความสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นความร่วมมือ ที่สำคัญผู้วิจัยแสดงให้เห็นว่า การเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ด้วยคนกลางจะมีประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายได้ดีกว่าการปล่อยให้แต่ละหน่วยเชื่อมโยงกันเองโดยไม่มีคนกลาง เป็นต้น

ผลการศึกษาดังกล่าวนี้มีส่วนช่วยสะท้อนความเป็นจริงของความร่วมมืออย่างมีนัย และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงสร้างและกลุ่มทางสังคมที่มีความหลากหลายได้ด้วย

หากพิจารณาบริบทการร่วมมือทางการศึกษาของประเทศไทยเราจะพบว่า หลายครั้งความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างภาคส่วนต่างๆ หรือ หน่วยงานต่างๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก ไม่สามารถจับคู่ความร่วมมือที่เหมาะสมได้

ดังนั้นหากภาครัฐกิจของไทยต้องการเห็นความร่วมมือทางด้านการศึกษาที่เกิดผลทวีคูณและเกิดประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดตั้งโครงสร้างหรือมอบหมายความรับผิดชอบให้บางหน่วยงานในการทำหน้าที่เป็นคนกลางในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น

1) การมีคนกลางในจับคู่หัวข้อวิทยานิพนธ์ กับ ภาครัฐกิจ หรือ ภาคธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากงานวิจัยนั้น เพื่อให้วิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาทำได้ใช้ประโยชน์แท้จริง และ ภาครัฐกิจ หรือ ธุรกิจสามารถนำความรู้นั้นไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมต่อไป

2) การมีคนกลางในการจับคู่ภาคธุรกิจ ที่ยินดีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษา ทั้งมัธยม อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดพลังทวีคูณในการพัฒนาทางด้านการศึกษา โดยไม่เพียงรอทรัพยากรและความช่วยเหลือจากภาครัฐกิจเท่านั้น

3) การมีคนกลางในการจับคู่งานวิจัยที่มีอยู่แล้ว กับ ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อให้งานวิจัยที่มีอยู่แล้วไม่ขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นต้น

นอกจากนี้การร่วมมือระหว่างกันควรมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยอาจอยู่ในรูปแบบการร่วมมือเฉพาะกิจหรือระยะยาวขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนของประเด็นปัญหาหรือการพัฒนาโดยให้มีผลกระทบครอบคลุม 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ทำให้ความร่วมมือระหว่างกันมีความครบถ้วนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ทำให้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไหลสู่ภาคเอกชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เช่นตัวอย่างที่ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหนังสือ ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา เกี่ยวกับการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคการผลิต โดยการเปิดสาขาวิชาของบริษัทเอกชนในสถานศึกษาปกติ เพื่ออิงการใช้สถานที่ บรรยากาศของสถานศึกษา ทรัพยากร บุคลากร ฯลฯ[2]

 

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/11/building-bridges-can-foster-cooperation-between-uncooperative-groups/

[2] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา (กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2543) หน้า 142.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ 30 พฤศจิกายน – พฤหัสบดี 6 ธันวาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *