ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแรงผลักสำคัญนำสู่การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษา เช่น การพัฒนาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างสะดวกและรวดเร็ว สนับสนุนและกระตุ้นให้คนทุกกลุ่มเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นต้น ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคส่วนการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคอนาคตที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่หลายประการ
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่มีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาอย่างเป็นพลวัตมาโดยตลอด มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศชาติ อย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนเสริมสร้างพัฒนาความรู้และทักษะสำคัญให้แก่กำลังคนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากการพัฒนาการศึกษาออนไลน์ของฮาร์วาร์ดที่มีผู้ใช้มากกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก ที่เรียกว่า edX ซึ่งปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ล่าสุดที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดยังคิดริเริ่มพัฒนา LabXchange ร่วมกับมูลนิธิเอ็มเจน (Amgen Foundation) สำหรับให้บริการการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์ เน้นด้านชีววิทยา โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้า บริการดังกล่าวนี้มีทั้ง การเรียนการสอนแบบดิจิตอล (digital instruction) ประสบการณ์ห้องปฏิบัติการเสมือน (virtual lab experiences) รวมทั้งเป็นโอกาสเชื่อมต่อการสร้างความร่วมมือและการเป็นพี่เลี้ยงระหว่างนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาวิทยาลัย
การดำเนินการครั้งนี้มูลนิธิเอ็มเจนให้การสนับสนุนเงินทุน 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ฮาร์วาร์ดสำหรับใช้ในการพัฒนา การปล่อยออกใช้ และการขยาย LabXchange โดยมูลนิธิดังกล่าวจะมีส่วนร่วมตลอดการพัฒนา อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิจะมีบทบาทการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่สำคัญ ซึ่งตามแผนจะมีการทดสอบตัวต้นแบบโดยผู้ใช้ในช่วงฤดูร้อนนี้และคาดว่าจะสามารถปล่อยให้ใช้ทั่วโลกในปีหน้า[1]
กรณีประเทศไทย อนาคตแม้การถ่ายทอดความรู้โดยผู้สอนในห้องเรียนจะยังคงมีความสำคัญ แต่ รูปแบบการเรียนการสอนและการจัดการเรียนรู้แบบเดิมที่ยึดห้องเรียนเป็นศูนย์กลางอาจจะเปลี่ยนเป็นการศึกษาเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยผู้เรียนมีอิสระในการบริหารจัดการการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยควรเตรียมพร้อมปรับตัวจัดการศึกษาให้เหมาะสำหรับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคศตวรรษที่ 21 และมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มคนหลากหลายเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน อันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาและจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดอันสะท้อนถึงความสำคัญของเทคโนโลยีตามที่ผมเคยนำเสนอในหนังสือ เรื่องเล่า เขย่าคิด ที่ว่า “เทคโนโลยีทำให้มนุษย์เป็นซูเปอร์แมน ทำให้มนุษย์เป็นมากกว่ามนุษย์ธรรมดา เกินกว่าความจำกัดของมนุษย์”[2] ครับ
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. เรื่องเล่า เขย่าคิด. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2547.
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/06/virtual-lab-extends-reach-of-science-education/
[2] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, เรื่องเล่า เขย่าคิด (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2547), หน้า 49.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 46 วันศุกร์ 27 กรกฎาคม – พฤหัสบดี 2 สิงหาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com