อารยาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

 

ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเวลาที่การประท้วงทางการเมืองแพร่กระจายไปทั่วโลก และ เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น โดยรายงานของ The Center of Strategic and International Studies (CSIS) หน่วยงานคลังสมองที่ตั้งอยู่วอชิงตัน สหรัฐ พบว่า จำนวนการประท้วงทางการเมืองต่อรัฐบาลโดยฝูงชนทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.5 ต่อปีโดยตั้งแต่ปีค.ศ.2009

 
ในช่วงปลายปีค.ศ.2019 เราเห็นการประท้วงเกิดขึ้นในเลบานอน สเปน ชิลี โบลิเวีย ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ หรือ ฝรั่งเศส เป็นต้น ขณะที่ในปีค.ศ.2020 เรายังคงเห็นการประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งล่าสุดใน สหรัฐ เนื่องจาก ปัญหาเรื่องการเหยียดผิว


การประท้วงที่เกิดขึ้นในโลกเป็นอาการที่แสดงออกมาถึงรากของปัญหาบางอย่าง และแม้ว่าในหลายพื้นที่ของโลกอาจจะยังไม่มีการประท้วงเกิดขึ้นเวลานี้ แต่ “เชื้อแห่งความขัดแย้ง” นั้นรอวันปะทุขึ้นไม่ช้าก็เร็วในอนาคต และ ปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นตัวเร่งความขัดแย้งให้เกิดมากขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น คือ “ความไม่พึงพอใจต่อประชาธิปไตย” ที่ลามไปทั่วโลก


Centre for the Future of Democracy แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้เปิดเผยรายงาน ความพึงพอใจต่อประชาธิปไตยทั่วโลก (Global Satisfaction with Democracy 2020) จากการสำรวจ คน 4 ล้านคน ทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ.1973 – 2020 พบว่า ปีค.ศ.2019 ความไม่พึงพอใจต่อประชาธิปไตยของโลกเวลานี้มาถึงจุดสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตั้งแต่ปีค.ศ.1995 และสูงขึ้นอย่างมากเป็นพิเศษตั้งแต่ปีค.ศ.2005


แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทุกประเทศทั่วโลกที่ความไม่พึงพอใจในประชาธิปไตยจะสูงขึ้น แต่ว่าโดยส่วนใหญ่ไปในทิศทางที่ไม่พอใจมากขึ้น และ ไม่พอใจมากขึ้นอย่างมากในประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทางประชาธิปไตย เช่น สหรัฐฯ บราซิล เม็กซิโก สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สเปน เป็นต้น


ความไม่พึงพอใจในประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็น เพราะ ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในแบบปัจจุบัน ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เลวร้ายจากการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมือง การขยายตัวของการเมืองแบบประชานิยม การทุจริตคอร์รัปชั่น ความขัดแย้งอย่างเลวร้ายระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังไม่นำไปสู่การบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิสภาพอย่างที่ประชาชนคาดหวังเอาไว้


ผมคิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกจะเป็นไปในทิศทางนี้จนกว่า ประชาธิปไตยจะได้รับการยกระดับให้เป็น “อารยาธิปไตย”


สิ่งที่ผมต้องการเสนอ ไม่ใช่เป็นการคัดค้าน ยกเลิก เปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตย แต่เป็นการยกระดับประชาธิปไตยให้ดีขึ้น ให้เป็นแบบที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนมากขึ้น สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความสงบสุขในสังคมมากขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่ผมอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจ คือ


1. อารยาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง
เมื่อเอ่ยถึงประชาธิปไตยนั้น เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ จากประชาธิปไตยทางตรง สมัยเอเธนส์ จนถึงประชาธิปไตยสมัยใหม่แบบปัจจุบัน นักวิชาการทางรัฐศาสตร์มีการอธิบายและขยายความรูปแบบของประชาธิปไตยไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น


– ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) คือ ประชาธิปไตยที่เชื่อเรื่องการให้โอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเพียงการเลือกตั้งเหมือนกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเท่านั้น


– ประชาธิปไตยแนวแจ็คสัน (Jacksonian Democracy) คือ ประชาธิปไตยในแบบของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจบริหารและตำแหน่งประธานาธิบดีเหนือสภาคองเกรส


– ประชาธิปไตยแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (Totalitarian Democracy) คือ ประชาธิปไตยที่ผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีเอกภาพในบริหารอำนาจ ขณะที่พลเมืองแม้จะมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่กลับมีส่วนร่วมน้อยหรือไม่มีเลยในการตัดสินใจทางการเมือง


– ประชาธิปไตยโดยไตร่ตรอง (Deliberative Democracy) คือ ประชาธิปไตยที่เชื่อเรื่องการกำหนดนโยบายโดยอาศัยผลการศึกษาวิจัยความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม เป็นต้น


จากการวิเคราะห์ประชาธิปไตยในแบบที่มีอยู่ ผมเห็นว่ายังไม่มีประชาธิปไตยในรูปแบบใดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในปัจจุบันได้ ผมจึงอยากเสนอให้ยกระดับประชาธิปไตยแบบปัจจุบันให้ดีขึ้นและอธิบายโดยใช้คำที่ผมบัญญัติขึ้นมาใหม่ว่า “อารยาธิปไตย” ซึ่งหมายถึง ประชาธิปไตยที่เชื่อเรื่องการใช้ธรรมาธิปไตยเป็นฐานอำนาจ ผู้ใช้อำนาจยึดมั่นในความถูกต้อง ความดีงาม มีคุณธรรมในการตัดสินใจ


2. อารยาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยแบบที่ดีที่สุด
ประชาธิปไตยแต่ละรูปแบบอาจมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าอารยาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยแบบที่ดีที่สุด ที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าประชาธิปไตยแบบอื่น เนื่องจาก


1) จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมา การปกครองที่ผู้ปกครองใช้ความดี หรือ ธรรมาธิปไตยเป็นฐาน ใช้ความถูกต้องเป็นศูนย์กลางในการตัดสิน ไม่ได้ใช้อำนาจเงิน ผลประโยชน์ อำนาจเผด็จการ กำลังอาวุธ หรือกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เพื่อเอาเปรียบข่มเหงประชาชน ระบอบการปกครองนั้นย่อม ดีสำหรับประชาชน เนื่องจาก ความดีที่นำมากำกับการใช้อำนาจนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้นำไม่ละเลยการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ปฏิเสธการตรวจสอบการทำงานทางการเมืองโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่สร้างเงื่อนไข เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น ที่จะเห็นเหตุให้ประชาชนไม่พอใจและลุกขึ้นมาล้มล้างได้


2) อารยาธิปไตย มีกลไกที่ครอบคลุมประชาธิปไตยแบบอื่นๆ เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน (ตามแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) การศึกษาวิจัยความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม (ตามแบบประชาธิปไตยโดยไตร่ตรอง) เป็นต้น


3) อารยาธิปไตยพยายามเพิ่มเติมกลไกอื่นที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้ที่เข้าสู่อำนาจมีความดีเป็นพื้นฐาน และใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น


ก. การเสนอให้ใช้วิธีที่กลุ่มคนอิสระเชิญคนมีคุณภาพลงเลือกตั้ง แทนการเปิดให้คนสมัครกันเอง เพื่อให้คนดีมีความสามารถ ไม่ใช่ตัวแทนของนายทุน สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้


ข. การกำหนดให้นักการเมืองทุกคนต้องมี ”ประวัติการทำดีเพื่อสังคม” อย่างล้นหลาม เพื่อไม่ให้การเมืองเป็นพื้นที่ฉาบฉวย และเพื่อให้คนดีมีคุณธรรมเข้าสู่การเมืองอย่างแท้จริง


ค. การออกกฎหมายให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองต้องมาจากประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่จากนายทุนจำนวนน้อยที่คุมพรรคอยู่ และการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคต้องเลือกโดยสมาชิกพรรคการเมืองทั้งประเทศ


ง. การกำหนดเพดานเงินบริจาคแก่พรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนครอบงำพรรค เป็นต้น


ในความเห็นของผม อารยาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยแบบที่ดีที่สุดที่โลกต้องการ เพราะมีทั้งความเหมาะควร (Legitimacy), ความชอบธรรมบนความดีงามถูกต้อง (Righteousness) และความมีประสิทธิสภาพ (Efficacy) ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่ความสงบสุขในสังคมของทุกฝ่าย ซึ่งการเมืองแบบอารยาธิปไตยนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากผู้ถืออำนาจไม่พยายามวางแผนให้เกิด ไม่ผลักดันอย่างจริงจัง และ จะยิ่งยากมากที่จะเกิดขึ้นหากคนในสังคมไม่เข้าใจและไม่ตื่นตัวมีความรับผิดชอบเป็นพลเมือง


การยกระดับจากประชาธิปไตยให้เป็นอารยาธิปไตยอาจจะดูเป็นเรื่องที่ยาก แต่อย่างไรก็ตามความยาก ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ หากเราพยายามช่วยกันคิด พูด ทำ ผลักดัน อย่างต่อเนื่อง จุดประกาย จนเกิดกระแสในสังคม ผมเชื่อว่าการยกระดับจากประชาธิปไตยเป็นอารยาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้าครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *