จากการเฝ้าสังเกตคนจำนวนนับหมื่น ๆ คนที่ผมได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ด้วยในวาระต่าง ๆ ทำให้ผมพบว่า คนเรามีอายุ 3 อายุ
หนึ่ง อายุเวลา หรือ อายุจริงตามเวลาเกิด และอาจรวมไปถึงอายุงาน ซึ่งเป็นการสะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญชำนาญที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน
สอง อายุหน้า คนส่วนใหญ่ชอบให้อายุเวลาไปก่อนอายุหน้า หรือชอบ ‘หน้าอ่อน’ มากกว่า ‘หน้าแก่’
และสาม อายุวุฒิภาวะ หรือการพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ที่เหมาะสมกับวัย ไปสู่ความสมบูรณ์หรือความเป็นผู้ใหญ่ เช่น มีเหตุมีผล ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเองได้ มีบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่เหมาะสม ฯลฯ
ถ้าอายุหน้าอ่อนกว่าอายุจริง ย่อมเป็นเรื่องที่ ‘น่าปลื้มใจ’ แต่ถ้าอายุวุฒิภาวะอ่อนกว่าอายุจริง จะเป็นเรื่องที่ ‘น่าสลดใจ’
ในวัยทำงาน มักเริ่มต้นที่ช่วงอายุ 20 กว่า ๆ และจะอยู่ในชีวิตการทำงานจนถึงวัยเกษียณ 60 ปี หรือบางคนอาจจะมากกว่านั้น ระยะเวลาที่อยู่ในวัยทำงานอาจร่วม 30 ปี ซึ่งวุฒิภาวะควรจะเพิ่มขึ้นตามอายุจริง มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เมื่อเราผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิต มีความรับผิดชอบ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักใช้เหตุผล ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ สุขุมรอบคอบ วางตัวได้อย่างเหมาะสม
ในความเป็นจริง คนบางคนอายุเวลาไปไกลแล้ว อายุหน้าไปหมดแล้ว แต่อายุวุฒิภาวะตามไม่ทัน ยังเป็นเด็กอยู่ ทำตัวไม่สมวัย เพราะถูกอีโก้ตัวเองครอบงำ
เราเคยเห็นไหม…คนบางคนทำงานมานาน ตำแหน่งสูงขึ้น แต่กลับเป็นพวก ‘แก่ประสบการณ์’ มีความเย่อหยิ่ง คิดว่าตัวเองเก่งกว่า แน่กว่า ใครแนะนำอะไรไม่เคยฟังเลย หรือบางคนเป็นพวก ‘รักษาหน้า’ ทำดีต่อหน้า ลับหลังนินทาให้ร้าย ชอบโยนความผิด เอาความดีเข้าตัว ความชั่วให้คนอื่น หรือบางคนเป็นพวก ‘กลัวคนอื่นได้ดี’ จึงชอบดูถูก คอยจับผิด คิดร้ายผู้อื่น หรือบางคนอายุมากแล้ว แทนที่จะสุขุมเยือกเย็นใช้เหตุผล กลับใช้อารมณ์โกรธง่าย หายช้า เพิ่มความเครียดได้เสมอ….คนเหล่านี้นอกจากไม่มีใครอยากจะทำงานด้วยแล้ว ยังอาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นด้วย
คนที่วุฒิภาวะโตไม่สมวัย มักจะเอาตัวเองเป็นใหญ่ ทำตามอำเภอใจ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จนนำไปสู่การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งามได้ และจำเป็นต้องยกระดับวุฒิภาวะให้สูงขึ้น ด้วยการเข้าใจและจัดการ ‘อีโก้’ ของตนเอง มิให้มันสร้างปัญหาให้กับผู้อื่น และย้อนกลับมาทำลายตัวเองได้ในที่สุด
เข้าใจการทำงานของอีโก้ อีโก้ของเราแต่ละคน เป็นส่วนผสมผสาน ระหว่าง ความคิด (mind) ร่างกาย (body) และจิตวิญญาณ (soul) ทำให้เราตระหนักรู้ว่า ตัวเรามีอยู่ เราเป็นใคร ต้องการอะไร และควรตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไร
อีโก้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรามากน้อยต่างกัน เพราะส่วนผสมสามส่วนนี้ หนึ่ง ความคิด เป็นความรู้สึกนึกคิด ประกอบด้วย สติปัญญา การใช้เหตุผล และอารมณ์ ในการประเมินและตัดสินใจ สอง ร่างกาย เป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณ มีความปรารถนา ความต้องการ ความอยาก – อยากมี อยากเป็น อยากได้ เพื่อเติมเต็มความพึงพอใจด้านร่างกายและจิตใจ สาม จิตวิญญาณ เป็นเรื่องของมโนสำนึก หรือคุณธรรมในใจ ความสำนึกในความผิดชอบชั่วดี กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรมของสังคม
ถ้าทั้งสามส่วนนี้สามารถทำงานประสานกันเป็นอย่างดี โดยมีมโนธรรมที่ถูกต้องเป็นแกนหลัก ในการช่วยยับยั้งความต้องการของร่างกาย และมีสติปัญญาช่วยหาเหตุผลและตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์
ยกตัวอย่างเช่น สมมติลูกค้าต่อว่าเราด้วยวาจาไม่สุภาพ ใช้ภาษาที่ดูถูกดูแคลน แทนที่จะตอบโต้กลับด้วยความโกรธ แต่กลับพูดขอโทษ และขอบคุณ พร้อมจะกลับไปแก้ไข เพราะประเมินแล้วว่า ตัวเองมีส่วนผิดจริง และมองว่า หากตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงอาจจะตกงาน และครอบครัวต้องประสบความลำบาก
หรือ เมื่อเราถูกหัวหน้างาน ดูถูกดูแคลนว่า ทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แทนที่จะคิดน้อยใจ คิดโกรธแค้น หรือคิดที่จะตอบโต้ กลับเปลี่ยนคำดูถูกที่ได้รับ เป็นพลังฮึกเหิม เกิดความมุมานะพยายาม และบอกกับตัวเองว่าต้องทำให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ลบคำสบประมาทนั้นให้ได้ เป็นต้น
ตรงกันข้าม หากเราให้อีโก้เป็นใหญ่ คิดถึงแต่ตัวเอง มุ่งปกป้องตัวเอง ทำตามอารมณ์ ความต้องการ โดยไม่สนใจความถูกผิด หรือ ผลกระทบเชิงลบที่จะตามมา วุฒิภาวะของเราจะหยุดพัฒนาทันที
ควบคุมอีโก้ไม่ให้ “ออกคำสั่ง” ธรรมชาติมนุษย์จะขับเคลื่อนด้วยอีโก้ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กและในช่วงวัยรุ่น จะสังเกตเห็นว่า เด็กมักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในโลกของตัวเอง ดำรงอยู่โดยให้ผู้อื่นมาตอบสนองความต้องการตน และทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของตนเอง แต่เมื่อเติบโตขึ้น ในวัยบรรลุนิติภาวะ คนเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เรียนรู้ที่จะร่วมมือทำงานกับผู้อื่น จึงจำเป็นต้องไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ต้องไม่ให้อีโก้ขับเคลื่อนชีวิต
ในเรื่องต่าง ๆ เราควรใช้ความคิด สติปัญญา เหตุผล และหลักคุณธรรม มาเป็นตัวประเมินก่อนตัดสินใจ ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เอาอารมณ์เป็นใหญ่ แต่คำนึงถึงผู้อื่น และผลกระทบที่จะตามมา จนสามารถระงับความต้องการของตนเองได้
การทำความเข้าใจอีโก้ของตนเอง และหาวิธีจัดการบริหารอีโก้ เท่ากับเป็นการพัฒนาระดับอายุวุฒิภาวะให้สูงขึ้นสมวัย ช่วยให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมก้าวสู่หน้าที่รับผิดชอบที่สูงขึ้นต่อไป
ที่มา: งานวันนี้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.thrivetoday.org/images/MaturityRetreats/maturity%20solution%20hammer.jpg