ผมขอเริ่มต้นด้วยข้อคิดที่ว่า “ความสุขที่แท้จริง คือการได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ” ผมได้พบว่า คนจำนวนมากไม่ได้มีความสุขกับการทำงาน แต่ใช้เวลาชีวิตไปกับการทำงาน เพื่อทำมาหากิน และคนเหล่านี้มักดีใจเมื่อถึงวันศุกร์ เพราะจะได้พัก ไม่ต้องทำงาน เพราะมองงานเป็นภาระ ไม่ได้ทำให้มีความสุข
แต่ในบทความนี้ ผมขอเสนอแนวคิดสำคัญที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขกับการทำงาน นั่นคือ การทำงานสร้างชาติ ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่า เพราะเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ผมผลักดันแนวคิด Corporate Nation-Building หรือ องค์กรสร้างชาติ เพื่อเปลี่ยนการประกอบการ และการทำงาน จากการหารายได้ เป็นการประกอบการเพื่อการสร้างชาติ และยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองด้วย
การมีส่วนสร้างชาติเป็นสัญญาประชาคม ผมเชื่อว่าธุรกิจและองค์กรทุกประเภทต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ทุกภาคกิจอยู่ร่วมกันเป็นสัญญาประชาคม เป็น “สัญญาใจ” ในการที่จะต้องผลิตสิ่งดีในสังคม ซึ่งไม่ใช่เพียงการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเพียงเท่านั้น แต่มีส่วนร่วมกับภาคกิจอื่น ๆ ในการสร้างชาติ และรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กรสร้างชาติเป็นประเภทขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมระดับสูงสุด ตามแนวคิด “Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum” ของผม ประกอบด้วย CSR 0.0 หรือ CPM (Corporate Profit Making) คือ องค์กรที่เน้นสร้างผลกำไร, CSR 1.0 หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) คือ องค์กรที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม, CSR 2.0 หรือ CGG (Corporate Good Governance) คือ องค์กรที่มีธรรมาภิบาล, CSR 3.0 หรือ CSV (Corporate Social Value) คือ องค์กรที่สร้างคุณค่าต่อสังคมในทุกกระบวนการ และ CSR 4.0 หรือ CNB (Corporate Nation-Building) คือ องค์กรสร้างชาติ
การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรสร้างชาติ จะช่วยให้ผู้ประกอบการและบุคลากรมีความสุขกับการทำงาน เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1) สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ
องค์กรสร้างชาติจะทำให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างโปร่งใส การรับฟังความต้องการและการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางขององค์กร การส่งเสริมความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การให้ผลตอบแทนและดูแลสวัสดิภาพของพนักงานอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะจะส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และทำให้การทำงานมีพลังทวีคูณ งานวิจัยพบว่า ความเป็นเจ้าของทำให้พนักงานร่วมมือกันเพิ่มขึ้น ยินดีช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความสมัครใจ ช่วยจัดการความเครียดในงานที่ยากลำบาก เพราะได้รับการสนับสนุนกันและกัน และยังจะได้รับการสนับสนุนจากภายนอกองค์กรด้วย
2) สร้างสมรรถนะ
องค์กรสร้างชาติจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของพนักงาน เพราะการที่บุคลากรได้รับการพัฒนาสมรรถนะจนสุดศักยภาพ จะทำให้เกิดการรับรู้สมรรถภาพและศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเอง (Self-Efficacy) ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงาน ส่งผลให้มีความสุขในการทำงาน
ทั้งนี้ผมได้นำเสนอกรอบแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะ ตามที่ผมได้นำเสนอไว้ในหนังสือ คนเก่ง สร้างได้ : โมเดล สมรรถนะ KSL312201 โดยระบุสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ประกอบด้วย
3K: ความรู้ (Knowledge) 3 มิติ คือ รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล
12S: ทักษะ (Skill) 4 หมวด: เก่งคิด เก่งสื่อ เก่งงาน และเก่งคน
20L: ลักษณะชีวิต 3 หมวด: ลักษณะชีวิตผลักดัน ลักษณะชีวิตสนับสนุน และลักษณะชีวิตธำรงความสำเร็จ
องค์กรที่จะเจริญเติบโตยั่งยืน ต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิตที่สนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะจะทำให้พนักงานเกิดสมรรถนะใหม่ ๆ ซึ่งอาจไม่สามารถพัฒนาได้จากการทำงานในองค์กร เช่น ความรู้กว้างกว่างานที่ทำอยู่ ทักษะการสร้างเครือข่าย ทักษะการประกอบการ ทักษะการเป็นผู้นำ ความเสียสละ ความมีมนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น
3) สร้างนวัตกรรม
องค์กรสร้างชาติจะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรรม ทั้งนวัตกรรมทางธุรกิจและนวัตกรรมทางสังคม โดยมีกระบวนการที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม อาทิ การส่งเสริมให้บุคลากรนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการขององค์กร การฝึกฝนความสามารถในการสร้างนวัตกรรม เช่น การทำโครงการ Cap-Corner Stone (CCS) ซึ่งเป็นโครงการ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ทำในประเด็นแคบ ๆ แต่ส่งผลกระทบมาก เป็นต้น การท้าทายและจูงใจให้บุคลากรกล้าคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาองค์กรและปัญหาสังคม การส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เข้าใจปัญหาในมุมมองที่กว้างขึ้น และแสวงหาแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เป็นต้น
นวัตกรรมเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการแข่งขันสำหรับองค์กรในอนาคต เพราะโลกกำลังเข้าสู่สังคมความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ดังนั้นองค์กรที่ขาดนวัตกรรมจะไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ส่วนองค์กรสร้างชาติที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม จะช่วยให้บุคลากรมีความสุขจากการทำงานที่ท้าทาย ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในงานที่ทำ และทำให้เกิดความภาคภูมิใจหากสามารถสร้างนวัตกรรมสำเร็จ และนวัตกรรมนั้นมีผลในการแก้ปัญหาขององค์กรและสังคม
4) สร้างคุณค่าแก่สังคม
องค์กรสร้างชาติจะเป็นองค์กรที่สามารถสร้างคุณค่าแก่สังคม ซึ่งการสร้างคุณค่าแสดงออกหลายรูปแบบและหลายระดับ อาทิ การพัฒนาองค์กรให้แข่งขันได้ มีกำไรและมีรายได้เพียงพอ การทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และการพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กร เป็นต้น ในอนาคต คุณค่าที่องค์กรให้แก่สังคมมีความสำคัญต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณค่า นอกเหนือจากตัวสินค้าและบริการมากขึ้น เช่น ยินดีจ่ายราคาสูงขึ้น ให้กับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เป็นต้น
ในอนาคตผมมองว่าการดึงดูดและรักษาพนักงานมีความยากมากขึ้น เพราะคนหนุ่มสาวมีสัดส่วนลดลง คนรุ่นใหม่อยากทำงานอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานที่ท้าทายและต้องการความสุขในการทำงาน การดึงดูดและรักษาคนเก่งและดี ต้องใช้งานที่ท้าทายและมีคุณค่า เพราะคนเก่งไม่ได้ต้องการเพียงเงินเดือนสูง แต่อยากทำงานที่ท้าทายความสามารถ และงานที่มีคุณค่าด้วย
ผมเชื่อว่าองค์กรที่มีอุดมการณ์สร้างชาติ จะเป็นที่รวมคนมีอุดมการณ์ และงานสร้างชาติ จะดึงดูดคนดี มีอุดมการณ์ให้เข้ามาร่วมทำงาน ดังนั้นการพัฒนาพนักงานอยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ที่ถูกต้อง ย่อมสร้างความผูกพันต่อองค์กรด้วยอุดมการณ์ ซึ่งเหนียวแน่นมากกว่า ความผูกพันด้วยผลประโยชน์ พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสุข รู้สึกภาคภูมิใจในงานที่ทำ และภาคภูมิใจในองค์กร เมื่อเขารู้สึกว่างานมีคุณค่า เขาจะทุ่มเทให้กับงาน ทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ และมีผลิตภาพ
1 เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2559). คนเก่ง สร้างได้ : โมเดล สมรรถนะ KSL31220. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.