หลายคนมองว่า “งาน” กับ “ชีวิต” เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และพยายามหาวิธีการใช้ชีวิตเพื่อแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน สมดุล ลงตัวมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่าหากเกิดความไม่สมดุลระหว่าง “งาน” และ “ชีวิต” ย่อมเกิดผลกระทบต่อทั้งการทำงาน และ ชีวิตส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อาการหมดไฟ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเพื่อนร่วมงาน ปัญหาครอบครัว รวมทั้งพลาดการใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เป็นต้น การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานได้จึงถูกมองเป็นความสำเร็จ
.
แนวคิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างภาระผูกพันส่วนบุคคล (personal life) กับ งาน (work) รวมถึงผลกระทบต่อกันและกัน โดยมุ่งสร้างความสมดุลเพื่อลดความขัดแย้งในบทบาทของบุคคลเกี่ยวกับ งาน และ เวลาส่วนตัว และสวัสดิภาพของครอบครัว โดยความสมดุลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามช่วงชีวิตของคน และขึ้นอยู่กับความพอใจในการจัดสรรการทำงานกับเวลาส่วนตัว
.
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าแนวคิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน ยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อนบางประการที่ผมไม่เห็นด้วย ดังต่อไปนี้
.
1. มองคำว่า “งาน” ในความหมายด้านลบ
แนวคิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน มองว่าการทำงานเป็นเวลายาวนานในแต่ละวันสร้างปัญหาต่อการดำเนินชีวิต จึงต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิต แต่ความเป็นจริงแล้วการทำงานยาวนานนั้นไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากงานเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า ทำให้เราได้ใช้อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และพบความหมายในชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้น คือ คนไม่สามารถจัดการสิ่งอื่น ๆ ให้ดีหรือควบคู่ไปกับการทำงานมากกว่า
.
ผมเสนอว่าเราควรจะบูรณาการงานและชีวิตเข้าด้วยกัน (Work-Life Integration) มองงานในด้านบวก คือ มองว่าการทำงานเป็น “การรับจิตสำนึก” (Inner Calling) หรือเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด โดยอาจกล่าวได้ว่า
.
สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทำงาน คือ จิตสำนึก (ไม่ใช่เงินทอง, ตำแหน่ง, ชื่อเสียง ฯลฯ)
.
ความรู้สึกต่องาน คือ ความรักงาน (ไม่ใช่ เกลียดงาน ปฏิเสธงาน)
.
การตัดสินใจเลือกงาน คือ การเลือกสิ่งที่จะจดจ่อที่มีคุณค่าสูงสุด (ไม่ใช่ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นหลัก)
.
เป้าหมายของการทำงาน คือ การ “สร้างชีวิตให้ดี เก่ง กล้า” (ไม่ใช่เพื่อ ‘สร้างเนื้อ สร้างตัว’)
.
ผลลัพธ์ของการทำงาน คือ ความสุข ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย (ไม่ใช่ ตรากตรำ จำใจ ) เป็นต้น
.
2. มอง “งาน” กับ “ชีวิต” เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้
หลายคนมอง “งาน” กับ “ชีวิต” มีความจำเป็นที่จะต้องแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งใน 1 วัน ชีวิตของคนเรานั้น ใช้เวลาในการทำงานอย่างน้อยหนึ่งในสามของวัน เมื่อมองว่างานกับชีวิตแยกออกกัน จึงทำให้ต้องตัดสินใจแบบ “ได้อย่าง-เสียอย่าง” (Trade-off) อาทิ ถ้าอยากมีเงิน ก็ต้องทำงาน ทำให้เวลาที่ดูแลตัวเอง เวลาพักผ่อน เวลาดูแลครอบครัวลดลง จึงทำให้เกิดผลเสียและปัญหาตามมา แต่ถ้าหากเราออกแบบบูรณาการงานและชีวิต (Work-Life Integration) ให้ดี เราสามารถได้ทั้งสองอย่างทั้งการทำงานและการพักผ่อน ดูแลครอบครัว เพราะงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่สามารถแยกออกจากชีวิต
.
3. มอง “งาน” กับ “ชีวิต” เป็น Zero-Sum Game
Zero-Sum Game คือ เกมที่ผู้เล่นต้องมีคนหนึ่งแพ้ และอีกคนเป็นผู้ชนะเสมอ โดยผลประโยชน์ของผู้ชนะที่ได้จากการแข่งขันจะได้มาจากผู้แพ้ เมื่อพิจารณาเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในชุมชนของคนที่มองว่าชีวิตต้องสมดุลจะพบว่ามีลักษณะเป็น Zero-Sum Game เช่น หากต้องการไปใช้ชีวิตในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ (ตัวเองชนะ) ก็ต้องหยุดงาน (องค์กรแพ้) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรและภาพรวมได้ แต่การบูรณาการงานและชีวิต (Work-Life Integration) จะเป็น Positive-Sum Game คือ เกมที่ผู้เล่นทุกคนได้ประโยชน์ จะมากหรือน้อยก็ยังได้ประโยชน์ เช่น เราสามารถพักผ่อนและทำงานไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน (ตัวเองชนะ – องค์กรชนะ) ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่องานและองค์กรและภาพรวม
.
4. Work – Life Balance ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเสมอไปในชีวิต
ในช่วงที่ผ่านเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรมีนโนบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home: WFH) แม้ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 จะทุเลาลงแล้ว แต่หลายองค์กรยังสนับสนุนแนวทางแบบ Hybrid คือ การผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้าน กับ ทำงานที่ออฟฟิศ เข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ดังนั้นคนทำงานจากที่บ้าน หลายคนไม่สามารถที่จะแยก “งาน” และ “ชีวิต” ได้ รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ทำให้ดูเหมือนว่าคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และ สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ดังนั้นการบูรณาการงานและชีวิต (Work-Life Integration) จึงเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นจริงได้ทุกยุคทุกสมัย เช่น สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวัน ทุกอิริยาบถ ไปพร้อม ๆ กันอย่างมีความสุข เป็นต้น
.
5. Work – Life Balance เป็นการส่งเสริมให้คนมีเป้าหมาย เพื่อส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม
การแยกเรื่องงานออกมาจากชีวิตส่วนตัว ทำให้คนให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นชีวิตส่วนตัวมากขึ้น จดจ่อที่ตัวเองให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวเอง ใหญ่เท่ากับ หรือ (มากกว่า) เป้าหมายของการทำงานหรือองค์กร แต่การบูรณาการงานและชีวิต (Work-Life Integration) ส่งเสริมการเห็นแก่ส่วนรวม โดยการบูรณาการเป้าหมายชีวิตส่วนตัวให้สอดรับ สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงาน อย่างไม่แยกออกจากกัน เลือกทำสิ่งที่ผสานและเชื่อมโยงระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมได้ เมื่อทำเรื่องส่วนตัว มีผลทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ดังโมเดล 4 Wins (ส่วนตัว ส่วนร่วม ส่วนเรา ส่วนรวมชนะ) ในยามปกติ และ โมเดล 3 Wins (ยอมสละส่วนตัว) ในยามวิกฤตของผม โดยการหาจุดร่วมหรือบูรณาการระหว่างเป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายขององค์กรให้ได้
.
การสร้างความสมดุลในชีวิตและการทำงานอาจทำไม่ได้โดยง่าย เพราะเวลาไม่เคยหยุดเดิน สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตต่างเป็นพลวัต และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นการหาวิธีสร้างความสมดุลในแต่ละคน ย่อมไม่มีสูตรตายตัว ไม่อยู่นิ่ง และต้องปรับอยู่เรื่อย ๆ ประกอบกับมีปัจจัยภายนอกอีกจำนวนไม่น้อยที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในชีวิตมนุษย์หนึ่งชีวิตก็มิอาจแยกงานออกจากชีวิตได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องบรูณาการและชีวิต จึงจะสัมผัสมิติความสำเร็จ ที่ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในชีวิตได้