วิจัยสร้างผลกระทบต่อสังคม : กรณีศึกษานักวิจัยฮาร์วาร์ด

“การวิจัยคือ การหาความรู้สด”

ผมเคยนำเสนอความคิดและคำพูดประโยคนี้เอาไว้หลายเวทีเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในหลายสิบปีที่ผ่านมาว่าต้องสนับสนุนให้เกิดการวิจัยผลิตความรู้บูรณาการกับสังคมแบบไร้รอยต่อ โดยการวิจัยดังกล่าวต้องมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

การทำวิจัย (research) ของผมดังกล่าวนี้มิเพียงหมายถึง การค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ต้องเป็นการผลิตองค์ความรู้ใหม่หรือที่ผมเรียกว่า “ความรู้สด” อันเป็นองค์ความรู้ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนในโลก อาจเป็นประเด็นจุลภาคหรือมหภาคประเด็นใดประเด็นหนึ่งเฉพาะเจาะจงบริจาคให้แก่โลก

การทำวิจัยควรเกิดจากการบูรณาการองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย    1) ความรู้หลากหลายศาสตร์ 2) วิธีวิทยาที่พอเหมาะ และ 3) กาละ เทศะ และการประยุกต์ใช้ ด้วยว่าการมีความรู้ แต่ไม่มีวิธีวิทยาที่พอเหมาะ ไม่สอดคล้องกับกาละ เทศะ และไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ย่อมไม่สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์หรือผลกระทบมากนัก

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง พร้อมมีการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ เช่น การขับเคลื่อนการวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ การขับเคลื่อนการวิจัยสร้างผลกระทบทางการศึกษาและการเรียนรู้ทางด้านสุขภาพ ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติของภาครัฐและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่นเดียวกันล่าสุดที่ผ่านมา นักวิจัยของฮาร์วาร์ดมีส่วนสร้างผลกระทบด้วยการทำวิจัยออกแบบระบบสิ่งจูงใจที่เป็นเงินสำหรับแพทย์และโรงพยาบาลร่วมกับการวัดสมรรถนะ (key measures of performance) หวังพัฒนาปรับปรุงการดูแลสุขภาพผู้ป่วยจำนวนหลายล้านคนในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศจีนตามที่มีข้อมูลนำเสนอในเว็บไซต์ข่าวของมหาวิทยาลัย

นักวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ฮาร์วาร์ด ผู้ร่วมทำวิจัยระบุ ความพยายามดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการยกเครื่องการดูแลสุขภาพของรัฐบาลจีน ปี ค.ศ. 2009 ที่มีเป้าหมายต้องการให้ประชาชนจำนวน 1.2 พันล้านคนเข้าถึงระบบการประกันสุขภาพ แม้การปฏิรูปดังกล่าวนี้จะส่งผลทำให้การประกันเป็นสากลและเพิ่มการมีส่วนร่วมในระบบการดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ปราศจากการทำให้มั่นใจในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการดูแล

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลจีนจึงทำงานร่วมกับทีมนักวิจัย นำโดยนักวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ฮาร์วาร์ด ทำการทดลองขนาดใหญ่ในโรงพยาบาลในมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) และหนิงเซี่ย (Ningxia) โดยในระบบการทดลองดังกล่าวนี้ การประกันสาธารณะจะจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลบนฐานข้อมูลโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละมณฑล ร้อยละ 30 จะมีการระงับและจ่ายเงินในช่วงเวลา 6 เดือนตามแต่โรงพยาบาลจะบรรลุการวัดคุณภาพเจาะจงด้านการพัฒนาปรับปรุงการดูแลภาวะสุขภาพทั่วไป ซึ่งตามแผนจะนำไปปฏิบัติในโรงพยาบาล 50 แห่งใน 28 มณฑล[1]

การวิจัยดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการสร้างผลกระทบต่อสังคมวงกว้างระดับประเทศ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญและประโยชน์ของการวิจัยในฐานะเป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยไทยเราควรตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญและมีส่วนร่วมผลักดันให้การวิจัยมีส่วนเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติและสังคมส่วนร่วมแท้จริง

การทำวิจัยนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยแล้ว ควรเป็นช่องทางสำหรับการพัฒนาคณาจารย์มหาวิทยาลัยให้มีทักษะความสามารถทางด้านการวิจัย และที่สำคัญควรมีเป้าหมายให้เกิดผลนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคปฏิบัติ เป็นการวิจัยที่สร้างให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและชุมชน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยคำพูดของผมอันสะท้อนถึงความสำคัญของการวิจัยที่ว่า ประเทศที่ประดิษฐ์ความรู้และเอาความรู้มาใช้งานก็ได้ผลลัพธ์ที่ได้จากความรู้มากกว่าประเทศที่ไม่มีความรู้ที่ต้องไปเที่ยวซื้อหาเอาผมไม่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยใดจะสามารถทำหน้าที่สอนได้โดยไม่ทำวิจัย และมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทสำคัญในการทำวิจัยที่มีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติสังคม

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/12/harvard-researchers-work-to-improve-health-care-in-china/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 21 วันศุกร์ 2 – พฤหัสบดี 8 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *