ในฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวถึง BITA Economy ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับภาคตะวันออก 8 จังหวัดในภาพรวม ซึ่งผมสังเคราะห์จากฐานจุดแกร่งของแต่ละจังหวัด และนำมาเชื่อมโยงให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยครั้งนี้ผมจะเจาะรายละเอียดยุทธศาสตร์เป็นรายจังหวัด ดังนี้
.
1) ระยอง: อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ชีวเคมี) และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีสร้างรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมในระยอง โดยเป็นการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นหลัก ซึ่ง ปตท. มีศักยภาพและความตั้งใจในการทำวิจัยและพัฒนาด้านพลาสติกชีวภาพ (Bio – plastic) โดยได้ตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology – VISTEC) ขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัย เป็นต้น ดังนั้นจังหวัดระยองจึงควรให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การนำวัสดุทางชีวภาพมาใช้การสร้างวัสดุใหม่ การพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลาย หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น
.
นอกเหนือจากศักยภาพในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ ระยองยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ มีการสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลและธรรมชาติที่สวยงาม และอยู่ใกล้กับพัทยาที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงสามารถดึงดูดการลงทุนและท่องเที่ยวทางธุรกิจจากต่างประเทศได้อีกด้วย
.
2) ชลบุรี: อุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI-Robot) การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
.
ปัจจุบันชลบุรีเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นอำเภอศรีราชายังเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งสามเป็นฐานสำหรับอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
.
อย่างไรก็ดีการพัฒนาอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในชลบุรีควรเน้น ช่องว่างการตลาดย่อย (sub-niche) บางด้าน เช่น เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industry) ผลิตชิ้นส่วน เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ หรือ ประยุกต์ใช้แมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในงานบางด้าน โดยเฉพาะใช้สนับสนุนช่องว่างทางการตลาด ด้านอื่นของภาคตะวันออก เช่น การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น
.
นอกจากนั้น ชลบุรียังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะพัทยา โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ขณะที่การลงทุนจากโรงพยาบาลเอกชนก็เติบโตมากขึ้นเพื่อให้บริการชาวต่างชาติ มีโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดชลบุรีเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา)และศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนั้นสนับสนุนใหชลบุรีเป็นผู้นำในด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของภูมิภาค
.
3) ฉะเชิงเทรา: อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพ (Food Wellness Tourism)
.
อุตสาหกรรมยานยนต์ในฉะเชิงเทรามีมูลค่าสูงที่สุดในภาคตะวันออก และศูนย์ทดสอบแบตเตอร์รี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ก็ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตที่ อ.บ้านโพธิ์ อย่างไรก็ดีผลกระทบการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนหนึ่งต้องหยุดดำเนินการ ดังนั้นจึงควรมีแนวทางสนับสนุนการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิม เช่น การปรับตัวสู่เครื่องจักรกลการเกษตร หรือยานยนต์ในชนบท ซึ่งยังสามารถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในได้
.
นอกจากนั้นฉะเชิงเทรายังเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ โดยสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายชนิด มีคุณภาพ และผลิตได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เช่น ไข่ไก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ สุกร เป็นต้น จึงสามารถพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย
.
4) ปราจีนบุรี: เมืองหลวงสุขสภาพโลก (World Wellness Capital)
ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งหลายด้าน เช่น เป็นฐานการลงทุนของอุตสาหกรรม มีสวนอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะปลูกด้านเกษตรที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตามจุดแข็งประการหนึ่งที่ปราจีนบุรีแตกต่างจากจังหวัดอื่นมากที่สุด คือ ปราจีนบุรีมีชื่อเสียงในระดับประเทศในด้านสมุนไพรและแพทย์ทางเลือก มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร โดยเฉพาะ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีแหล่งเพาะปลูกและผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ โดยปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมให้เป็น 1 ใน 4 “เมืองสมุนไพรนำร่อง ดังนั้นเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก ปราจีนบุรีจึงเหมาะสมและควรยกระดับจาก “เมืองสมุนไพร” เพื่อพัฒนาไปสู่ “เมืองสุขภาวะ” (Wellness City) เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขสภาวะเพื่อมุ่งเป็นเมืองหลวงสุขสภาพโลก (World Wellness Capital)
.
5) จันทบุรี: เมืองหลวงผลไม้โลก (World Fruit Capital)
ผลิตภัณฑ์มวลของจังหวัด (GPP) จันทบุรี ในส่วนของภาคเกษตรนั้น สูงถึง 6.1 หมื่นล้านบาท (2559) คิดเป็นร้อยละ 55.4 ของ GPP จังหวัดจันทบุรี และมีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศ โดยจันทบุรีมีรายได้จากผลไม้เขตร้อนและกึ่งร้อน คิดเป็น ร้อยละ 94 ของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรในจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะการเป็นแหล่งผลิตและมีรายได้จากทุเรียนมากที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริม “ประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก” (World Tropical Fruit Trading Nation) ภาคตะวันออกเป็น “มหานครผลไม้โลก” และ จันทบุรีเป็น “นครผลไม้ของโลก” ดังนั้นผมจึงคิดว่าจันทบุรีนั้นเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงผลไม้โลก (World Fruit Capital)
.
6) ตราด: การท่องเที่ยวทางทะเลและหมู่เกาะ และการท่องเที่ยวเชิงอาหารทะเล (Island Tourism and Seafood Tourism)
เนื่องจาก ตราดมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและหมู่เกาะ มีแนวชายฝั่งทะเลยาว 165.5 กิโลเมตร มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ 52 เกาะ โดยเฉพาะเกาะช้าง ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ มีป่าชายเลนที่หนาแน่น ทำให้ตราดมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในกลุ่มภาคตะวันออก 2 นอกจากนี้ตราดยังมีสนามบินเอกชน โดยมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 3 เที่ยวบินต่อวัน และได้รับการอนุญาตเป็นสนามบินศุลกากรแล้ว ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมง สูงที่สุดของภาคตะวันออก
.
7) สระแก้ว: การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงการค้าไทยอินโดจีน (Historic Heritage Tourism and Thai-Indochina Trade Tourism)
จังหวัดสระแก้วเหมาะสมที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัดเน้นไปในเรื่องนี้ เนื่องจาก สระแก้วมีการค้าชายแดนมากที่สุดในภาคตะวันออกเพราะเป็นประตูการค้าไปสู่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม กลายเป็นหนึ่งในเส้นทางไปเดินทางไปนครวัด ที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวระดับโลก
.
8) นครนายก: การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism)
นครนายก อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตก ภูเขา และป่าไม้ โดยมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นศูนย์กลาง สภาพเมืองสงบ มีที่พักที่สามารถรองรับกับการท่องเที่ยว การประชุม อบรม สัมมนา และการบริการด้านต่างๆ อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนมากที่สุดในกลุ่มภาคตะวันออก 2 จึงเหมาะที่จะเป็นเมืองการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
.
ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกและไทยหดตัวลง และทำให้แบบแผนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิม แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างไร โดยยังรักษาระดับการติดเชื้อในประเทศที่ต่ำไว้ได้
.
โดยสรุปแล้วภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก ทุกจังหวัดมีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งยิ่งประกอบกับการใช้ยุทธศาสตร์ BITA Economy ในการพัฒนาภูมิภาคด้วยแล้ว ยิ่งสามารถปลดปล่อยศักยภาพของภูมิภาคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีทรัพยากรและความโดดเด่นมากเพียงใด แต่หากไม่ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์ ไม่มีการเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละภาคธุรกิจ ไม่มีการบูรณาการจุดแกร่งให้สนับสนุนกันและกัน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการใช้จุดแกร่งของแต่ละพื้นที่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด เพราะนอกจากโอกาสจะเป็นของคนที่พร้อมแล้ว โอกาสก็มักจะเป็นของคนที่เห็นโอกาสเสมอครับ