ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando
สหรัฐซึ่งหลายคนในโลกถือว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาเรื่อง “ความรุนแรงและการเหยียดสีผิว” จากการที่ตำรวจผิวขาวเข้าจับกุมชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน โดยใช้ความรุนแรงจนเสียชีวิต จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ที่เมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา และบานปลายเป็นการประท้วงในหลายเมืองทั่วสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
สาเหตุส่วนหนึ่งของการจราจลครั้งนี้มาจากความโกรธแค้นที่ปะทุขึ้นจากการถูกเหยียดผิว ผสมผสานกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองซึ่งมีมาอย่างยาวนาน เมื่อมีตัวจุดประกาย จึงทำให้เกิดการประท้วงกลายเป็นกระแสขยายตัวไปในวงกว้าง
นอกจากนี้การจลาจลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย แต่คนก็อาจจะยังไม่ได้ยึดมั่นความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้น ตำรวจผิวขาวคงไม่ใช้ความรุนแรงกับชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และ ประชาชนคงไม่แสดงออกถึงการประท้วง ใช้ความรุนแรง ปล้นร้านค้า จนเหตุการณ์บานปลายอย่างปัจจุบัน
ความขัดแย้งมักรุนแรงขึ้น สถานการณ์มักบานปลาย เมื่อคนไม่ยึดมั่น หรือ ไม่เข้าใจสาระพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือ เข้าใจไม่ครบถ้วน หรือ เลือกยึดถือบางเรื่อง ที่ง่าย ตัวเองพอใจ (เช่น การมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งทุกคนชอบและปรารถนา) แต่เลือกปฏิเสธบางเรื่องที่ยาก ที่อาจต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติ (เช่น การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ การไม่ใช่ความรุนแรง เป็นต้น) ดังนั้นเราจึงเห็นได้บ่อยครั้งที่คนที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย หรือ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะมีการแสดงออกด้วยวิธีการใช้ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (Hate Speech) ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เพศ หรือรสนิยมทางเพศ การประท้วง การใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงออก ถึงความไม่พอใจ เป็นต้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสาระพื้นฐานของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ตัวอย่างของสหรัฐ ถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศว่าหากต้องการสร้างสันติภาพในองค์กร สังคม ประเทศ เพื่อให้คนอยู่อย่างเป็นเอกภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ การส่งเสริม การอบรมสั่งสอน การปลูกฝังให้คนยึดมั่นสาระพื้นฐานของประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสาระพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ผมคิดว่าผู้นำและประชาชนควรยึดมั่นเพื่อจะนำมาซึ่งสันติภาพในสังคม ได้แก่
1. การใช้เสียงข้างมาก คำนึงเสียงข้างน้อย (Majority Rule – Minority Right) เนื่องจาก ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ จึงต้องให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเคารพเสียงส่วนน้อย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเสียงข้างมากจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสร้างสังคมที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
2. เสรีภาพเสวนา (Freedom of Dialogue) ในสังคมประชาธิปไตย ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการ การแสดงความเห็น ด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการเขียน แต่ในการอยู่ร่วมกันเสรีภาพในการแสดงออกนั้นต้องมีขอบเขต ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ทำให้สังคมเสียหาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. การไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย ในทางความเห็น ความเชื่อ อุดมการณ์ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่เราต้องพูดคุยหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งกายภาพและทางวาจาที่สร้างความเกลียดชัง
4. การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) โดยยึดถือว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ความคิดเห็นและเสียงของทุกคนจึงมีความสำคัญที่จะต้องรับฟัง และเราจึงควรปฏิบัติต่อกัน ให้เกียรติกัน เคารพซึ่งกันและกัน รับฟังกันอย่างเสมอภาค
5. ความเหมาะควรในการเข้าสู่ตำแหน่งแห่งอำนาจ (Legitimacy) เนื่องจาก การเข้าสู่อำนาจในทางการเมืองจะต้องเป็นไปตามกฎกติกา เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการใช้อำนาจ หรือ เป็นเหตุให้คนไม่ยอมรับการใช้อำนาจ หรือเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้
6. การแข่งขันเข้าสู่บทบาทผ่านการเข้าเกณฑ์ (Competition) กติกาของประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันในการเข้าสู่บทบาทต่างๆ หากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดในบทบาทหน้าที่นั้น ความขัดแย้งในสังคมอาจเกิดขึ้นได้หากการแข่งขันนั้นไม่ยุติธรรม
7. ความชอบธรรมในการใช้อำนาจจากตำแหน่ง (Righteousness) ผู้นำต้องใช้อำนาจอย่างชอบธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจาก อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน การใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างไม่ชอบธรรมมักจะเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่ความขัดแย้งเสมอในทุกยุคทุกสมัยและในทุกมุมโลก
8. การยึดโยงต่อประชาชน (ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน) (Peopleization) การใช้อำนาจของผู้ที่ถืออำนาจรัฐต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเมื่อประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เหมาะสม โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนจะน้อยลงไปด้วย
9. การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม (Rule of Law) ผู้นำ ผู้ใช้อำนาจรัฐจะต้องออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน บังคับใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม ซึ่งจะช่วยลดเงื่อนไขที่จะสร้างความขัดแย้ง และช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและความไว้วางใจในการจัดการของผู้ที่ถืออำนาจ
10. การทำหน้าที่แบบรับผิดรับชอบ (Accountability) ไม่ว่าใครอยู่ในตำแหน่งอะไร จะเป็นผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ ควรต้องแสดงให้เห็นได้ว่าตนได้ใช้อำนาจที่ได้รับมอบ ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง มีการแสดงความรับผิดและรับชอบในผลของการกระทำตามบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเอาใจใส่และระมัดระวังมากขึ้น
11. การถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) กลไกประชาธิปไตยกำหนดให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐที่แบ่งแยกออกเป็น นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้ผู้ถือำนาจรัฐใช้อำนาจอย่างถูกต้อง ป้องกันการเป็นเผด็จการในการใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การจะปลูกฝังให้คนยึดมั่นสาระพื้นฐานของประชาธิปไตยเหล่านี้ถือเป็นความท้าทาย เป็นบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้นำในองค์กร ผู้นำในสังคมที่จะต้องช่วยกัน ผมหวังว่าสิ่งที่ผมคิด พูด ทำ และเขียน ทั้งส่วนตัวและร่วมกับเพื่อนพี่น้องที่สถาบันการสร้างชาติจะมีส่วนในการทำให้คนไทยเห็นความสำคัญในการยึดมั่นสาระพื้นฐานของประชาธิปไตยมากขึ้น และหวังว่าประเทศไทยจะเรียนรู้บทเรียนจากสหรัฐและไม่เดินซ้ำรอยแห่งความขัดแย้งและความสูญเสียนี้ในอนาคตครับ