“ถ้าเราพิการทางกาย เรายังพอจะหาวิธีทดแทนได้ แต่ถ้าเราพิการทางภาษาอังกฤษ เราจะเป็นอัมพาตทางโอกาสตลอดชีวิตอย่างแท้จริง”
คำกล่าวข้างต้น เป็นข้อสรุปความสำคัญของภาษาอังกฤษในยุคนี้ ซึ่งผมได้กล่าวไว้ในการบรรยายที่ต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยทุกคนไม่ว่าอยู่ในแวดวงใด จะได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน
ภาษาอังกฤษสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ข้อมูลข่าวสารทั่วโลกสามารถรับรู้ได้พร้อมกัน ภาษาอังกฤษเป็นกุญแจที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้
ในวันนี้ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในโลกใบเล็ก ๆ ที่พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่องหมดก็จะเป็นคนที่ตกเวทีโลกและเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง
แน่นอนว่า หากเราไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ เราย่อมจะเป็นเหมือน “คนพิการ” ทางการสื่อสาร ทำให้เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับโลกได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว
การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ จะช่วยให้เรา “ใกล้ชิด” และ “ติดตาม” ความรู้/ความก้าวหน้าของโลกได้ทัน เพราะภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากล สิ่งตีพิมพ์ในแวดวงต่าง ๆ ที่รับรู้ทั่วโลก จะใช้ภาษาอังกฤษ แปลจากภาษาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก ข้อมูลความรู้ในอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ
ถ้าเรารู้ภาษาอังกฤษ เท่ากับ โอกาสรับรู้ข้อมูลทั่วโลกเป็นไปได้สูง แต่หากเรารู้เพียงภาษาไทย อ่านคล่องเพียงภาษาไทย เราย่อมล้าหลัง เพราะต้องรอแปลเป็นภาษาไทย ถ้าเรื่องใดไม่มีแปล ก็ทำให้เราไม่รับรู้ข้อมูลดังกล่าว ทำให้พลาดโอกาสการรับรู้ที่เท่าทันไป
คำถามที่ผมมักจะได้รับคือ “แล้วจะอ่านภาษาอังกฤษอย่างไรให้รู้เรื่อง …ถ้าภาษาอังกฤษเราอ่อนแอมาก ๆ?”
ในหนังสือชื่อ Outliers ผู้เขียนมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ถ้าเราใช้เวลาฝึกฝนเรื่องใดก็ตามอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ เซียน ในเรื่องนั้น
การฝึกภาษาอังกฤษไม่ยากเกินไป ส่วนสำคัญ ขึ้นอยู่กับ “ตัวเรา” ตั้งใจ เอาจริงที่จะฝึกฝนด้วยตนเองมากน้อยเพียงใด?
ตั้งเวลาเจาะจง – อ่านทุกวัน เราจะเก่งภาษาอังกฤษได้ ถ้าเราเอาจริง ตั้งใจ มีวินัย ฝึกฝนอย่างจริงจัง วิธีหนึ่งที่ผมแนะนำลูกศิษย์และผู้ร่วมงานมาโดยตลอด คือ ให้อ่านภาษาอังกฤษทุกวัน อย่างเจาะจง อย่างน้อยวันละ 15 นาที หรือประมาณ 4-5 ย่อหน้า ในช่วงเริ่มต้น และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราเริ่มชำนาญแล้ว ซึ่งในที่สุด เราก็จะเคยชินที่จะอ่านภาษาอังกฤษไปเอง โดยสิ่งที่อ่านจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ บทความ หนังสือ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่สนใจ จากในเวบไซต์ หรือจากที่ต่าง ๆ
อย่ากลัวเมื่ออ่านไม่รู้เรื่อง คนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว เพราะล้มเลิกกลางคัน คนที่ล้มเหลวในการฝึกอ่านภาษาอังกฤษก็เช่นกัน เมื่ออ่านไม่รู้เรื่องก็มักจะหมดแรง หมดกำลังใจที่จะอ่านต่อไป แต่ผมขอแนะนำว่า ในช่วงเริ่มต้น ให้เราเลือกอ่านภาษาอังกฤษที่ไม่ยากเกินไป และไม่มากเกินไป เช่น เลือกอ่านข่าวประจำวัน 1 ข่าว มีความยาวประมาณ 4-5 ย่อหน้า หรืออ่านหนังสือประเภท How to ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ สัก 1-2 หน้า เป็นต้น โดยวิธีการฝึกอ่านให้ทำดังนี้
อ่านรอบแรก – ทำความเข้าใจทีละย่อหน้า การฝึกอ่านที่ดี ไม่ควรเริ่มจากการหาศัพท์ทุกตัวที่ไม่เข้าใจ แต่เราควรอ่านไปเรื่อย ๆ ทีละย่อหน้า แม้ว่าอาจจะมีศัพท์หลายคำที่เราไม่รู้ ไม่คุ้นเคย อย่าเพิ่งค้นหาความหมาย แต่ให้เราอ่านต่อไปจนจบย่อหน้า และพยายามทำความเข้าใจ โดยตีความจากบริบทแวดล้อม ว่า ผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร แนะนำว่า ให้เราหากระดาษมาจดโน้ตสั้น ๆ ว่าเราเข้าใจว่าอย่างไร เพื่อกลับมาทบทวนภายหลัง จากนั้นทำแบบเดียวกันในย่อหน้าอื่น ๆ จนจบเรื่องที่เราตั้งใจไว้
อ่านรอบสอง – ค้นหาศัพท์ที่ไม่รู้ เมื่ออ่านรอบแรกจบแล้ว เรามีความรู้สึกว่า ไม่มั่นใจเลยว่าที่เข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ หรือคิดว่าอ่านไม่เข้าใจเลยว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร ให้เรากลับมาอ่านรอบสอง โดยในรอบนี้ ให้เราค้นหาความหมายของศัพท์ที่เราไม่รู้ทั้งหมด และพยายามทำความเข้าใจใหม่ในแต่ละย่อหน้า อาจจะจดสิ่งที่เข้าใจครั้งที่สอง และนำมาเปรียบเทียบกับที่จดไว้รอบแรก ซึ่งเราจะพบว่า เข้าใจเรื่องที่อ่านได้กระจ่าง ชัดเจนมากขึ้น
ทำความเข้าใจคุ้นเคยกับภาษา จากนั้น สิ่งที่ควรทำต่อไป เพื่อให้เราเกิดความคุ้นชินกับภาษาอังกฤษ ให้เราศึกษารูปแบบการเขียน การใช้คำกริยา การจัดเรียงประโยค รวมถึงการจดคำศัพท์ หรือสำนวน แยกออกมาในสมุดจดต่างหาก อาจทำการค้นคว้าเพิ่มเติมในการใช้สำนวน การใช้คำศัพท์ เพื่อให้เราเรียนรู้และจดจำได้อย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ
ผมเชื่อว่า ถ้าเราอดทนทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกวัน เราจะอ่านภาษาอังกฤษได้อย่างเข้าใจในเวลา 1 ปีและหลังจากวันนั้น เราจะเป็นคนที่มี “โอกาสมากกว่า” อาจช่วยให้เราทำงานได้ทั่วโลก ปรับตัวได้ทันโลก และเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 751 วันที่ 16-23 ตุลาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://s3.favim.com/orig/40/books-glasses-hipster-photography-reading-Favim.com-333678.jpg