ผมเคยนำเสนอความคิดการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์หรือการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันเพื่อการศึกษา เรียนรู้ และนำทรัพยากรหรือประเด็นทางการศึกษาที่แผ่ขยายหรือแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้เป็น 1 ในหลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ[1] ของผม ตามที่เคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหลายเวที รวมถึงเคยเขียนเป็นบทความก่อนหน้านี้ ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อภาคส่วนการศึกษา และคิดว่าการศึกษาของเราปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งของการเป็นผู้ตามบริบท (Context Taker) คือ เป็นผู้รับผลกระทบจากบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อมภายนอกมิได้เป็นผู้มีบทบาทกำหนดหรือสร้างให้เกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลง[2] เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโลกาภิวัตน์
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่สะท้อนความคิดการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้ผ่านการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตรจำนวนมาก หนึ่งในตัวอย่างสำคัญในที่นี้คือ การประชุมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุและสุขภาพโดยมีภาควิชาประชากรและสุขภาพโลก (Department of Global Health and Population) เป็นเจ้าภาพ อันเป็นหนึ่งในประเด็นการอภิปรายสำคัญในการประชุม Harvard T.H. Chan School of Public Health’s fifth Annual State of Global Health Symposium ที่จัดให้มีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้มีผู้ฟังเข้าร่วมกว่า 150 คนจากทั่วมหาวิทยาลัย และมีองค์ปาฐกถาจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization (WHO)) โดยบรรยากาศภายในงานมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นผู้สูงอายุอันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบระดับโลกใน 2 หัวข้อด้วยกัน ประกอบด้วย ผลกระทบทางด้านการรับรู้และด้านกายภาพของผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุและระบบสุขภาพ (Aging and Health Systems)[3]
การพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นผู้สูงอายุและสุขภาพดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างการนำประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบทั่วโลกมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยของฮาร์วาร์ด อันเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองและนำประชาคมมหาวิทยาลัยให้มีส่วนปฏิสัมพันธ์กับประเด็นร่วมสมัยระดับโลก ขยายขอบเขตปริมณฑลการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้เชื่อมสู่บริบทโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางด้านผู้สูงอายุที่เป็นประเด็นความห่วงใยร่วมกันทั้งโลกในขณะนี้
กรณีของมหาวิทยาลัยไทย นอกจากบทบาทการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ป้อนสู่สังคมแล้ว การปฏิสัมพันธ์กับประเด็นร่วมสมัยระดับโลกนับว่ามีความสำคัญ มหาวิทยาลัยควรปรับตัวและเรียนรู้ใช้โลกาภิวัตน์ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ เกิดประโยชน์ต่อการสร้างกำลังคนและองค์ความรู้ที่มีส่วนนำความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนามาสู่ประเทศชาติสังคมส่วนรวมมากที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ เช่น ประเด็นแนวโน้มทางด้านการขยายตัวของเมืองหรือ “ความเป็นเมือง” และกลุ่มชนชั้นกลางที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เป็นต้น
ตัวอย่าง การนำประเด็นผู้สูงอายุที่เป็นประเด็นร่วมสมัยระดับโลกมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา โดยให้มีการเชื่อมต่อกับบริบทการพัฒนาประเทศ ด้วยว่าประเทศไทยเรามีแนวโน้มจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอนาคตอันใกล้นี้ มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีส่วนช่วยเตรียมกำลังคนและองค์ความรู้ให้แก่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมกำลังคนให้พร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับที่ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหนังสือ 108 แผนชีวิต : สูตรต้านวิกฤตวัยชรา เช่น การเตรียมความพร้อมยอมรับสภาพความเป็นจริง การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ การเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ การเตรียมความพร้อมด้านที่พักอาศัย[4] เป็นต้น ครับ
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 108 แผนชีวิต : สูตรต้านวิกฤตวัยชรา. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2543.
[1] หลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ ประกอบด้วย การศึกษาบนฐานปรัชญา (Philosophy-based Education) การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization-based Education) การศึกษาบนฐานการบูรณาการ (Integration-based Education) การศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency-based Education) การศึกษาบนฐานการเมือง (Politics-based Education) การศึกษาบนฐานเศรษฐกิจ (Economic-based Education) การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology-based Education) การศึกษาบนฐานวัฒนธรรม (Culture-based Education) และการศึกษาบนฐานมนุษย์ (Human-based Education).
[2] ผมเคยนำเสนอความคิด การเป็นผู้กำหนดบริบท (Context Maker) และการเป็นผู้ตามบริบท (Context Taker) อย่างเป็นทางการในการบรรยายหัวข้อ ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร ภาวะคุณธรรม นำการสร้างชาติ หลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) รุ่นที่ 2 จัดโดย สถาบันการสร้างชาติ วันที่ 14 มิถุนายน 2560.
[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/harvard-chan-school-symposium-focuses-on-aging-and-health/
[4] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 108 แผนชีวิต : สูตรต้านวิกฤตวัยชรา (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2543), หน้า 19.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 40 วันศุกร์ 15 – พฤหัสบดี 21 มิถุนายน 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com