5/5/2566 วิเคราะห์จำนวน สส จากผลโพล : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโสมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ วิเคราะห์แนวโน้มจำนวน สส ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ
.
‘ทางตรงสุดท้าย’ 7 วันก่อนเลือกตั้ง 2566
กระแส ต้องไม่แพ้ กระสุน!!!การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ประชาชนชาวไทยยอมรับในกติกาประชาธิปไตยอย่างเป็นเอกฉันท์ได้หรือไม่ …หากต้องเปลี่ยนขั้วอำนาจ ปิดฉากฝั่งอนุรักษ์นิยม เปิดมิติใหม่ให้ฝั่งเสรีนิยม ซึ่งชนะเสียงส่วนใหญ่??
.
หรือในทางกลับกัน จะยอมรับได้หรือไม่….หากความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของฝั่งอนุรักษ์นิยมประสบความสำเร็จ??
.
จากผลสำรวจการเลือกตั้ง 2566 “เนชั่นโพล” รอบสอง (ระหว่าง 24 เม.ย. – 3 พ.ค.) โดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) สำรวจทั่วประเทศ 400 เขต จำนวน 114,457 ตัวอย่าง ผลสำรวจที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล หลายพรรคจะเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือต้องกลืนน้ำลายตัวเอง
ต้องยอมจับมือกับพรรคที่ตัวเองปฏิเสธไม่ร่วมด้วยตอนหาเสียงเลือกตั้ง
.
พรรคฝั่งเสรีนิยม เพื่อไทย ยอมจับมือ ก้าวไกล และพรรคอื่น ๆ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก
.
จากผลสำรวจพรรคเพื่อไทย มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่แลนด์สไลด์ โดยได้คะแนนนำทั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง (248 เขต) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (40 คน) รองลงมาคือพรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมตามมาเป็นอันดับสอง ทั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง (78 เขต) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (30 คน) ทั้งสองพรรคนี้ในที่สุดก็ต้อง ‘ยอม’ จับมือกันตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังมีที่นั่งในสภาฯ ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรวมพรรคที่พร้อมร่วมรัฐบาล เช่น พรรคประชาชาติ (12 เขตในสามจังหวัดชายแดนใต้) และพรรคอื่น ๆ ให้ได้ 376 เสียง เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้
.
อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากเสียงส่วนใหญ่นี้ มีโอกาสจะจุดประกายความขัดแย้ง หากมีการยกประเด็นอ่อนไหวมาพิจารณา อาจเกิดการประท้วงต่อต้านจากประชาชนบางกลุ่มได้
.
พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม ความหวังตั้ง รัฐบาลเสียงข้างน้อย…ริบหรี่!
.
จากผลสำรวจของเนชั่นโพล ความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคทางฝั่งอนุรักษ์นิยม ในหลายพื้นที่กลายเป็นการแข่งขัน ตัดคะแนนกันเอง เช่น ส.ส.ระบบเขตภาคใต้ 11 จังหวัด มีการ คะแนนตัดกันเองในหลายเขตระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และทำให้พรรคก้าวไกลที่มีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้น จึงสามารถจึงพลิกแซงนำได้ในหลายเขต และในภาพรวมพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมได้คะแนนน้อย มีเพียงบางแห่งที่ฝ่ากระแสมาได้ อาทิ พะเยายกจังหวัด สุพรรณบุรี เป็นต้น และเมื่อรวมตัวเลขจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้จะรวมคำตอบของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจไปแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (ประมาณ 100 เสียง ไม่ถึง 126 เสียง) แม้จะรวมเสียงวุฒิสมาชิก (ส.ว.) อีก 250 คน แล้วก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
.
จากทิศทางเนชั่นโพลทั้งรอบหนึ่งและรอบสอง ยังไม่มีปาฏิหาริย์ให้กับพรรคอื่น พรรคเพื่อไทยยังนำโด่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวว่า “สงครามยังไม่จบ..อย่าเพิ่งนับศพทหาร!!”
.
…7 วันสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยังพอมีเวลา ‘สัปดาห์สุดท้าย’ ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะวางยุทธศาสตร์แก้เกม ปรับกลยุทธ์ งัดทีเด็ด ดึงดูดใจประชาชน พลิกผลคะแนนให้ตนเป็นฝ่ายชนะได้
.
การเมืองไทย…อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!