ตัวอย่างวิจัยแก้ปัญหาสังคม : กรณีสถาบันวิจัยโรคเอดส์ฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการวิจัยแก้ปัญหาสังคมเอาไว้ในหลายเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทการพัฒนาประเทศที่ต้องการองค์ความรู้เป็นพื้นฐานตอบโจทย์ความต้องการของเราเอง เป็นการทำวิจัยแบบตัดเสื้อพอดีตัว สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับความต้องการจำเป็นของประเทศ บนสมมติฐานที่ว่าการจะพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีความสอดรับสนับสนุนอย่างเพียงพอ อันเป็นการวิจัยที่ผมคิดว่าจะมีส่วนสร้างให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศแท้จริง

ฮาร์วาร์ดเป็นแบบอย่างของการทำวิจัยเช่นว่านี้ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบระดับชุมชน สังคม ประเทศชาติแล้ว ยังมีส่วนสร้างผลกระทบระดับโลกด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การก่อตั้งสถาบันวิจัยโรคเอดส์  ฮาร์วาร์ด (Harvard AIDS Institute) ในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 106,994 คน และเสียชีวิตถึง 62,101 คน ฮาร์วาร์ดตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโรคเอดส์ที่ระบาดในช่วงนั้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี ค.ศ. 1988 อธิการบดี ดิเร็ค บ็อค (Derek Bok) ประกาศถึงการสร้างสถาบันวิจัยโรคเอดส์ฮาร์วาร์ดสำหรับขยายขอบเขตและเร่งการทำวิจัยโรคเอดส์ภายในฮาร์วาร์ด ระดมผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยสาธารณสุข วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลในเครือเพื่อการเรียนการสอน รวมถึงจากสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วม

ดิเร็ค บ็อค หรือ ไมรอน แม็กซ์ เอสเซกซ์ (Myron (Max) Essex) มาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1972 ภายหลังต่อมาในช่วงต้น ค.ศ. 1980 – 1989 เอสเซกซ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นเกี่ยวกับ AIDS และเป็นหนึ่งในนักวิจัยกลุ่มแรกที่ตั้งสมมติฐานว่ารีโทรไวรัส (retrovirus) เป็นสาเหตุของ AIDS หลังจากนั้นเขาและนักศึกษาปริญญาโทได้ระบุถึง (identified) gp120 เยื้อหุ้มโปรตีนของไวรัสที่เปลี่ยนมาเป็นฐานของการทดสอบ HIV นอกจากนี้ เอสเซกซ์และเพื่อนร่วมงานยังค้นพบไวรัส SIV ซึ่งเป็นไวรัสที่คล้ายกับ HIV ในลิง และระบุถึง (identified) HIV-2 ในแอฟริกาตะวันตก[1] อีกด้วย

สถาบันวิจัยโรคเอดส์ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมต่อสู้กับปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม สนองตอบต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และมีส่วนพัฒนาองค์ความรู้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก สนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการแก่มวลหมู่มนุษยชาติ

กรณีมหาวิทยาลัยไทย ในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรสนใจสังคมในมุมกว้าง อันประกอบด้วย 3 มิติคือ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติการเมือง ตามที่ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหลายเวที โดยผูกโยงการวิจัยสร้างองค์ความรู้ให้มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาครบถ้วนทั้ง 3 มิติดังกล่าวนี้ ด้วยการทำให้องค์ความรู้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติสังคมอย่างแท้จริง

 

[1] อ้างถึงใน https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/harvard-aids-institute-founded-30-years-ago/

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 41 วันศุกร์ 22 – พฤหัสบดี 28 มิถุนายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *