การบริหารจัดการศึกษาที่ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุผลสำเร็จของมหาวิทยาลัย อันจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกิดผลลัพธ์อันทรงคุณค่าและคงทนยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายอันเกิดจากความจำกัดทางด้านทรัพยากรที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิด โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model[1] (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2558) สำหรับเป็นกรอบคิดให้องค์กรนำไปใช้ในการบริหารจัดการตนเอง ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ในที่นี้รวมถึงองค์กรทางด้านการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน
หากนำกรณีศึกษาของฮาร์วาร์ดมาวิเคราะห์บนพื้นฐานความคิดโมเดลการบริหารประสิทธิสภาพ 8E จะพบว่าสะท้อนโมเดลดังกล่าวนี้บางระดับแบบไม่จงใจ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้และสามารถใช้เป็นต้นแบบการบริหารจัดแนวใหม่ที่จะนำสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนทะลุมิติข้ามกาลเวลา ดังนี้
- ประสิทธิภาพ (Efficiency)
ประสิทธิภาพคือ การบริหารจัดการปัจจัยนำเข้า (Input) อาทิ คน ทุน เวลา วัสดุอุปกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ปัจจัยนำเข้าน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด อันจะส่งผลช่วยลดความสูญเปล่าของทรัพยากรในระบบ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การบริหารจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนหลักประสิทธิภาพดังกล่าวนี้บางระดับ อาทิ การเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ตามบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยหลากหลายลักษณะ โดยที่ศิษย์เก่าดังกล่าวเหล่านี้มีความยินดีและเต็มใจให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ประสิทธิการ (Excellence)
ประสิทธิการคือ การมีกระบวนการที่ดีเลิศ ทำทุกขั้นตอนดีที่สุด ตามมาตรฐาน และความถูกต้องตามหลักสากล นำส่วนที่ดีที่สุดของสากลมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์กร ช่วยให้ไม่ต้องลองผิดลองถูกเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถนำต้นแบบสากลมาเรียนรู้ พัฒนาต่อยอด สร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร อาทิ ฮาร์วาร์ดประยุกต์ดัชนีชี้วัดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็นตัวเทียบเคียงสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ประสิทธิผล (Effectiveness)
ประสิทธิผลคือ การได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีตัวชี้วัด (Indicator) หรือ ดัชนี (Index) กำกับชัดเจน เป็นเครื่องมือช่วยสะท้อนการดำเนินงานและผลของการปฏิบัติงาน อาทิ ฮาร์วาร์ดมีการประเมินผลคณาจารย์และผู้ช่วยสอนเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยใช้ ดัชนี ตัวชี้วัด ที่สามารถวัดได้จริง เป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์ในการพัฒนาการสอนตนเอง เป็นต้น
- ประสิทธิคุณ (Esteemed–Valuableness)
ประสิทธิคุณคือ การบริหารจัดการผลลัพธ์หรือความสำเร็จของการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคุณค่าที่ถูกต้องหรือคุณค่าที่แท้จริง ต้องมิเพียงมุ่งวัดผลผลิต แต่ต้องมุ่งวัดผลลัพธ์และผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นต้องมีคุณค่าแท้จริง อาทิ ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพการศึกษาจึงลงทุนทุ่มงบประมาณและทรัพยากรรักษาคุณภาพการศึกษา อาทิ การคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเข้ามาทำงานเป็นคณาจารย์ ส่งผลสนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดยังคงรักษาการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับต้นของโลกจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นต้น
- ประสิทธิสาร (Esthetic–Worthiness)
ประสิทธิสารคือ การบริหารบนแก่นสารเลอค่าท่ามกลางคุณค่าที่มีอยู่ เลือกทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดกว่าคุณค่าใดและเกินกว่าที่จะสามารถประมาณมูลค่าหรือคุณค่าได้ เรียกว่า เป็นสิ่งที่ “เลอค่า” อาทิ ฮาร์วาร์ดมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดการศึกษาของตนเอง อาทิ การเปิดโอกาสให้ชุมชนละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ผ่านกิจกรรมการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ประสิทธิคูณ (Exponentiality)
ประสิทธิคูณคือ การบริหารจัดการสร้างให้เกิดผลกระทบ (Impact) วงกว้าง วงแล้ว วงเล่า ขยายวงออกไป เป็นการทวีคูณยกกำลังผลลัพธ์หรือผลกระทบที่เลอค่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อาทิ การพัฒนาตนเองเป็นต้นแบบทางด้านการจัดการศึกษาและการวิจัยสร้างนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่นสามารถศึกษาเรียนรู้และนำประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษาของตนเอง อันเป็นแนวทางการขยายผลกระทบเลอค่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ประสิทธิเขต (Externality)
ประสิทธิเขตคือ การประสานพลังเชิงบูรณาการผลกระทบให้ไปสู่ผลปรากฏนอกกรอบมิติเดิม ทั้งมิติเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์และมิติเชิงประเด็น มิติใดมิติหนึ่งหรือทั้งสองมิติ อาทิ ฮาร์วาร์ดขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างผลกระทบทางด้านการศึกษาและการวิจัยสู่ปริมณฑลใหม่ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ที่ชื่อว่า EdX ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ปัจจุบันมีผู้เรียนทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคน (Edx, n.d.) เป็นต้น
- ประสิทธิกาล (Eschatonicity)
ประสิทธิกาลคือ การบริหารจัดการที่เน้นความคงทน ผลที่ยั่งยืน ทะลุมิติข้ามกาลเวลา เป็นการคำนึงถึงอนาคตและผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว อาทิ การบริหารการเงินและการระดมทุนจากหลายแหล่ง ส่งผลช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การมีเงินกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย (Endowment fund) การระดมทุนและรับเงินบริจาคจากศิษย์เก่า เป็นต้น
โมเดลการบริหารประสิทธิสภาพ 8E ดังกล่าวนี้จะสนับสนุนให้การบริหารจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิสภาพ เกิดผลคงทนยั่งยืน ทะลุข้ามมิติกาลเวลา สามารถขับเคลื่อนนำพามหาวิทยาลัยให้บรรลุสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างสำคัญ
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (12 มิถุนายน 2558). นำเสนอครั้งแรกใน International Conference on
Management Science, Innovation and Technology ครั้งที่ 2 จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอในการบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 45 วันศุกร์ 21 – พฤหัสบดี 27 กรกฎาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com