กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ย้อนกลับไปในปลายทศวรรษ 1990 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าเทคโนโลยี คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้นได้
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนส่วนหนึ่งกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะ ณ ปัจจุบัน การขยายตัวและความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยียังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ซิลิคอน เวลลี่ (Silicon Valley) ดินแดนที่เป็นที่ตั้งของบริษัททางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของโลกที่ที่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมมากเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ
จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในซิลิคอน เวลลี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ประท้วงของขบวนการที่มีชื่อว่า ?ยึดครองกูเกิล? (Occupy Google) เกิดขึ้นในที่สุด โดยในวันที่ 1 ธันวาคม ในปี ค.ศ. 2013 เหล่าผู้ประท้วงมีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้รถโดยสารของบริษัทกูเกิลเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ได้อย่างปกติ
ทั้งนี้ ขบวนการยึดครองกูเกิล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้ภาคประชาชนในประเด็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในซิลิคอน เวลลี่ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำสะท้อนอยู่ใน 2 รูปแบบที่สำคัญ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 : ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของประชาชน
ราคาบ้านและที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถถือครองที่ดินเป็นของตนเองได้ ซึ่งเมื่อดูจากสถิติใน 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้าน (homelessness) ในซิลิคอน เวลลี่ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 เนื่องจากที่ดินที่อยู่อาศัยที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ต่างเป็นที่หมายปองของประชาชนผู้มีรายได้สูง อาทิเช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างเช่น บริษัทกูเกิล เป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจัยด้านกฎระเบียบทางกฎหมายยังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและการขยายจำนวนที่อยู่อาศัยในบริเวณซิลิคอน เวลลี่ ยกตัวอย่างเช่น
(1) กฎระเบียบขั้นพื้นฐานในการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่คนรวยที่ต้องการมีบ้านเดี่ยวที่มีบริเวณ อาทิ มาตรฐานในเรื่องระยะห่างของบ้านในแต่ละหลัง หรือ มาตรฐานในเรื่องระยะห่างระหว่างถนนกับที่อยู่อาศัย เป็นต้น
(2) ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดดังกล่าวเดิมที่ใช้เพื่อป้องกันชีวิตและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า แต่ปัจจุบันข้อกำหนดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมคุณภาพของอากาศและน้ำให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยต่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
(3) การเก็บภาษีที่อยู่อาศัย ซึ่งจัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 1 ของราคาซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้วมีความสามารถในการจ่ายภาษีได้อย่างเพียงพอในวัยที่มีรายได้คงที่จากเงินบำนาญ แต่กฎหมายดังกล่าวเหมือนเป็นดาบ 2 คม เพราะทำให้คนรวยที่ถือครองที่ดินเกินความจำเป็นเสียภาษีให้แก่รัฐในอัตราที่ต่ำด้วย
รูปแบบที่ 2 : ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน
ในปัจจุบันถึงแม้ว่า ซิลิคอน เวลลี่ เป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของเศรษฐีมากเป็นอันดับ 5 ของสหรัฐฯ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 66,070 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงถึงร้อยละ 43 ของครัวเรือนทั้งหมด แต่ปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
ณ ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีที่สำคัญของโลกเป็นจำนวนมาก อาทิ เฟซบุ๊ค (Facebook) กูเกิล (Google) ทวิตเตอร์ (Twitter) หรือ บริษัทเทคโนโลยีเปิดใหม่ในซิลิคอน เวลลี่ มีความพยายามที่จะดึงดูด บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมโลกให้เข้ามาร่วมทำงานกับบริษัทของตน โดยการกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีเลิศ
จากเหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดการอพยพของผู้คนที่เป็นหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลก เข้ามาทำงานในซิลิคอน เวลลี่ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาบ้านและค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น จนทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องประสบกับปัญหามากมาย อันเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคน ซิลิคอน เวลลี่ อีกทั้งถึงแม้ราคาบ้าน และค่าครองชีพ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่อัตราค่าแรงสำหรับแรงงานไร้ทักษะกลับไม่ได้ปรับสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยกว่าร้อยละ 31 ของอาชีพในซิลิคอน เวลลี่ เป็นแรงงานราคาถูกที่มีค่าจ้างเท่ากับหรือน้อยกว่า 16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งยังรวมถึงจำนวนชนชั้นกลางที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 62 ในปี ค.ศ. 2000 เหลือร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2010
กล่าวโดยสรุป ซิลิคอน เวลลี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และ ปัญหาคนไร้ที่อยู่มากที่สุดในสหรัฐฯ แต่หากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล และบริษัทเทคโนโลยีในพื้นที่หันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแก้กฎหมายการสร้างที่อยู่อาศัย หรือการลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็นทางออกสำหรับ ซิลิคอน เวลลี่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถถือครองที่ดินในบริเวณ ซิลิคอน เวลลี่ ต่อไปได้
กรณีของซิลิคอน เวลลี่ นับเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการพัฒนาเมืองในประเทศอื่นๆ ซึ่งแม้การพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่หากขาดการวางแผนรองรับล่วงหน้า ก็อาจต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างของการพัฒนาเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการขยายตัวของเมืองโดยขาดทิศทาง ทำให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตใจกลางเมืองมีราคาแพงจนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อได้ และยังนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อาทิ การบุกรุกพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาคนยากจนในเขตเมือง เศรษฐกิจนอกระบบ ฯลฯ
ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการกระจายความเจริญและการขยายตัวของเมืองต่างๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมระหว่างประเทศ ประกอบกับข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการกระจายความเจริญมากขึ้น จากบทเรียนของซิลิคอน เวลลี่และกรุงเทพฯ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากแผนการพัฒนาต่างๆ แล้ว การวางแผนรองรับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com