ในบทความนี้ขอเสนอ แนวคิดเศรษฐกิจพึ่งตนเองในลักษณะพร้อมที่จะดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน (switching policy) จากเศรษฐกิจเสรียามปกติเป็นพึ่งตนเองได้ทันทีเมื่อเกิดวิกฤต เป็นแนวคิดระดับจุลภาค ด้วยแนวคิด ชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง (Self – Sustained Community: SSC)
.
ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาดกลับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และด้วยวิกฤตโรคระบาดที่ยาวนาน ทำให้คนจำนวนมากมาถึงจุดที่ไม่มีอะไรกิน บางชุมชนในต่างประเทศถึงกับต้องมีแคมเปญ “ยกธงขาว” กล่าวคือ หากครัวเรือนใดสู้ต่อไม่ไหว ให้นำผ้าขาวมาผูกเป็นธงแขวนหน้าบ้าน เพื่อให้คนที่พบเห็นให้ความช่วยเหลือ
.
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเกิดวิกฤตที่รุนแรงและยาวนาน ภาครัฐกิจมักจะไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ส่วนภาคธุรกิจก็มักจะอ่อนกำลังลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ฉะนั้น ภาคประชากิจ โดยเฉพาะชุมชนจึงเป็นคำตอบสำหรับการดำรงชีวิตในยามวิกฤต
.
ปัจจุบัน มีความพยายามในการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองในแนวทางต่างๆ ทั่วโลก เช่น Ecovillage, Off-grid community, Sustainable community เป็นต้น ซึ่งกระแสการสร้างชุมชนพึ่งตนเองที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงความต้องการพึ่งพาตนเองได้ภายในชุมชนแล้ว
.
ยังแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤตจำเป็นต้องมีการออกแบบและเตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้พร้อมรับมือกับวิกฤต ซึ่งมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือวิกฤตอื่นๆ
.
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะทุกวิกฤตที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีความพยายามนำเสนอแนวคิดเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤต โดยเฉพาะแนวคิดเศรษฐกิจพึ่งตนเองในลักษณะที่คัดค้านเศรษฐกิจกระแสหลัก ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ และการค้าเสรี
.
หรือ การพึ่งตนเองแบบสุดโต่งซึ่งแม้จะเป็นไปได้ในภาวะวิกฤต แต่กลับส่งผลเสียเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะด้วยกลไกทางเศรษฐกิจที่เปิดให้มีการค้าขายในภาวะปกตินั้น จะทำให้ชุมชนประสบกับปัญหาสินค้ามีราคาแพง หรือการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับชุมชนอื่นที่เปิดทำการค้าขายกับภายนอก
.
ผมได้ขบคิดเรื่องนี้มาตลอด โดยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมได้เสนอแนวคิด “เศรษฐกิจกระแสกลาง” คือ ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอด ยามปกติดำเนินนโยบายตลาดเสรี ผลิตสินค้าที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเต็มที่
.
ขณะเดียวกันก็พัฒนาการผลิตปัจจัยอยู่รอดให้แข่งขันได้ และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน (switching policy) จากเศรษฐกิจเสรียามปกติเป็นพึ่งตนเองได้ทันทีเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่ง เศรษฐกิจกระแสกลาง เป็นแนวคิดระดับมหภาค ส่วนในระดับจุลภาค ผมเสนอแนวคิด ชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง (Self – Sustained Community: SSC)
.
ชุมชน มีความหมายทั้งในความหมายกว้างและความหมายแคบ ความหมายกว้าง หมายถึง ชุมชนที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ อาจรวมตัวกันหรือมีความสัมพันธ์กัน บนฐานของมิติต่างๆ ตาม AIP Model คือ รวมตัวภายในพื้นที่เดียวกัน (Area-based) รวมตัวตามประเด็นที่สนใจ (Issued-based) และรวมกลุ่มคนประเภทเดียวกัน (People-based)
.
ส่วนชุมชนในบริบทของชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง หมายถึง ชุมชนในความหมายแคบ คือ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างมีระบบภายในพื้นที่เดียวกัน เช่น กลุ่มคนจากหลายครอบครัว หรือคนหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนคนไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถพึ่งพากันและกันได้ แต่ไม่มากเกินไปจนไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้
.
ชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง หมายถึง ชุมชนที่มีความสามารถพึ่งตนเองในการผลิตปัจจัยอยู่รอด คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน อย่างเพียงพอในภาวะวิกฤต ทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนตื่นตระหนก มีการกักตุนสินค้าจนเกิดการขาดแคลน ภาครัฐยังไม่สามารถตั้งหลักในการจัดการได้ ทำให้การช่วยเหลือยังไม่เป็นระบบและไม่ทั่วถึง แต่ในภาวะปกติ ชุมชนติดต่อค้าขาย และเชื่อมโยงกับภายนอก เพื่อสร้างความมั่งคั่ง และมีการออกแบบและเตรียมพร้อมดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน (switching policy) เพื่อปรับสู่การพึ่งตนเองเมื่อเกิดวิกฤต
.
เหตุผลที่ผมนำเสนอชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง โดยมีความเห็นว่า ชุมชนพึ่งพาตนเองที่มีอยู่ทั่วโลก แม้มีบางส่วนที่คล้ายกับชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง แต่ยังมีจุดอ่อนบางประการที่ผมเห็นว่า อาจทำให้ชุมชนเหล่านั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือมีประสิทธิสภาพ หรือไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
เช่น Sustainable Community หรือบางครั้งใช้คำว่า “เมืองสีเขียว” “ชุมชนเชิงนิเวศ” “เมืองที่น่าอยู่” หรือ “เมืองที่ยั่งยืน” เป็นชุมชนที่วางแผน สร้าง หรือปรับเปลี่ยน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและขยะเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้มากขึ้น
.
แต่จุดอ่อน คือ การผลิตของชุมชนอาจไม่สามารถแข่งขันได้ในยามปกติ เพราะมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอาจไม่ได้ออกแบบให้สามารถผลิตได้เพียงพอในยามวิกฤต
.
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Self-Sufficient Community เป็นชุมชนที่เน้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน โดยปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งในยามปกติและยามวิกฤต แม้ชุมชนแบบนี้มีข้อดี คือ การผลิตที่เพียงพอกับความต้องการในชุมชนตลอดเวลา ซึ่งข้อเสียคือการผลิตสินค้ามีต้นทุนการผลิตสูงเพราะต้องผลิตเองทุกอย่าง แทนที่จะผลิตเฉพาะสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ และเสียโอกาสจากการค้าขายกับภายนอกชุมชนในยามปกติ
.
อีกแนวคิดหนึ่งคือ Self-Reliant Community ซึ่งเป็นชุมชนที่เน้นการพึ่งพาตนเองในปัจจัย 3 อย่าง คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน เพื่อรับมือกับภาวะที่มีความไม่แน่นอน (uncertainty) ซึ่งแนวคิดนี้มักถูกนำไปใช้ในพื้นที่ ที่มักประสบภาวะวิกฤต เช่น พื้นที่ขาดแคลนในประเทศแคเมอรูน หรือในชุมชนผู้อพยพ เป็นต้น
.
ถึงแม้แนวคิดนี้จะใกล้เคียงกับชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง โดยเฉพาะความพยายามพึ่งพาตนเองในปัจจัยอยู่รอด แต่ Self-Reliant Community เน้นการพึ่งพาตนเองทุกเวลา จึงทำให้มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและไม่สามารถแข่งขันได้ในยามปกติ
.
ท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอนคาดการณ์ยาก ความซับซ้อน และความคลุมเครือ หรือ VUCA การเกิดวิกฤตจึงมีโอกาสเกิดถี่มากขึ้น การสร้างชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเองจึงเป็นคำตอบสำหรับความอยู่รอดของผู้คนในอนาคต
.
ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤต แต่ยังมีโอกาสสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่งคั่งได้ในยามปกติ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการสร้างชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเองไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ แต่เกิดจากการออกแบบ วางแผนและเตรียมการล่วงหน้า