ในช่วงที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ ‘นักเรียนประท้วงขับไล่ผอ.’ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลข้อกล่าวหาที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ มีการบริหารงานไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่เหมาะสม การจัดซื้อจัดจ้าง การซื้อวัสดุการเรียนที่แพงเกินจริงและไม่มีคุณภาพ มีการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงโรงเรียน เงินบริจาค โดยไม่ชัดเจนว่านำไปทำอะไร ฯลฯ
ปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในมุมลบมุมบวก บางคนมองว่า เด็กสมัยนี้ปกครองยาก ไม่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ บางคนมองว่าเป็นการเลียนแบบผู้ใหญ่ ไม่พอใจใคร ก็ออกมาประท้วงขับไล่ บ้างก็มองว่าเด็กเหล่านี้ถูกชักจูงยุยง จากกลุ่มตรงข้ามที่ต้องการทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็มีจำนวนไม่น้อยที่มองในมุมบวกว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ‘การไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น’ ได้เริ่มขึ้นแล้ว เด็กเหล่านี้กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านความเคยชินเดิม ๆ ที่ทุกคนรับรู้ กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการจัดการกับผู้มีอำนาจที่ประพฤติไม่เหมาะสม
คำถามสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนจะสร้าง ‘จุดเปลี่ยน’ ทางวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นที่เรื้อรังมาเป็นเวลายาวนานในสังคมได้หรือไม่?
ผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหาร…จะรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตน โดยพึงพอใจกับค่าตอบแทนที่ได้รับ ไม่จำเป็นต้องหาเศษหาเลย หารายได้เพิ่มได้หรือไม่?
…จะเลิกรับ ‘ค่าคอมมิชชั่น’ จากการจัดซื้อจัดจ้างได้หรือไม่? ราคาสินค้าและบริการไม่มีข้อท้วงติงว่า ‘สูงเกินจริง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’ ได้หรือไม่?
…จะแสดงความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจ การดำเนินงานต่าง ๆ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ โดยเปิดเผยเส้นทางที่มาที่ไปของการใช้งบประมาณ ยินดีให้ตรวจสอบ รับฟังข้อท้วงติง พร้อมรับผิดรับชอบและยินดีปรับปรุงแก้ไขหรือไม่?
…จะกล้าออกกฎ ห้ามมิให้ผู้ใดรับของขวัญ ของกำนัล หลีกเลี่ยงการนัดพบส่วนตัวกับบุคคลที่หากคิดว่าอาจมีผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมได้หรือไม่?
…จะปฏิเสธการใช้เส้นสาย การใช้ความสัมพันธ์ การอ้างบุญคุณต้องทดแทน เพื่อใช้อำนาจของตนในการช่วยเหลือคนบางคน แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกันตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง ใช้ระบบคุณธรรมโดยไม่มีข้อยกเว้นได้หรือไม่?
ในมุมมองของผมคิดว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการสร้างสำนึก ‘รังเกียจการทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘ไม่เพิกเฉย’ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างแบบอย่างและกระแสให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดความตื่นตัวในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และเกิดความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของส่วนรวม อันจะส่งผลให้ผู้บริหารต้องระมัดระวังและรอบคอบในการบริหารเพื่อประโยชน์ของโรงเรียน มากกว่าแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง
อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การใช้วิธีตั้งข้อกล่าวหาและออกมาประท้วงขับไล่ ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดีและถูกต้อง การใช้วิธีปลุกระดมมวลชนกดดัน ย่อมเป็นช่องให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสีทำลายผู้บริสุทธิ์ได้ เพราะแน่นอนว่า ข้อมูลที่เด็ก ๆ ได้รับย่อมเป็นการส่งต่อ ๆ กันมา เป็นเหมือนฟังความข้างเดียว ยิ่งเมื่อได้รับการปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง มักจะมั่นใจว่าผู้ที่ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง โดยไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายชี้แจงข้อเท็จจริง หรือแม้ชี้แจงก็จะไม่ฟัง เพราะปักใจเชื่อไปแล้วว่า ผิดจริง
ความคิดและการกระทำเช่นนี้ นับว่าเป็นอันตราย มากกว่าที่จะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา เป็นเหมือนการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาแบบมุมเดียว คือ ใช้สิทธิของตนเองในการออกมาประท้วงอย่างสันติ แต่ไม่ได้เรียนรู้ในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ การเคารพสิทธิของผู้ที่กล่าวหาด้วย หากการกล่าวหาของเราไม่เป็นความจริง ย่อมทำให้บุคคลผู้บริสุทธิ์นั้นต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งอาจไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ และเท่ากับเป็นการ ‘หมิ่นประมาท’ ซึ่งสามารถถูกฟ้องกลับและเรียกค่าเสียหายได้
ที่สำคัญ การใช้วิธีนี้ ย่อมเป็น ‘ช่องเปิด’ ให้กับผู้ที่ต้องการฝ่ายตรงข้าม โดยอาศัยพลังมวลชนจำนวนมากให้เป็นฝ่ายตน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้บริหารที่มีความตั้งใจดี แต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีหมดกำลังใจที่จะทำหน้าที่ต่อไป และยิ่งหากไม่มีโอกาสได้ชี้แจงความจริง ย่อมเท่ากับทำลายคนดีไปโดยไม่รู้ตัว และมอบพื้นที่แห่งอำนาจให้กับกลุ่มอำนาจใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ภายนอกเป็นที่ยอมรับ แต่กลับเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างไม่มีใครต่อต้าน เพราะทำให้ทุกคนเป็นพวกของตนเองได้
แนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบและจัดการกับผู้บริหารที่ตนสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้อย่างถูกต้อง ควรอบรมสั่งสอนและมีช่องทางให้นักเรียนสามารถนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระบบ ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ผมขอเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ และภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น จัดทำ “เส้นทางการร้องเรียน” ให้กับนักเรียน หากพบเห็นหรือมีข้อสงสัยว่าผู้บริหารในโรงเรียนของตนประพฤติไม่เหมาะสม จะต้องปฏิบัติอย่างไรเป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่จำเป็นต้องรวมตัวประท้วง
ยกตัวอย่างเช่น การเปิดสายด่วน ให้นักเรียนสามารถโทรมาร้องเรียนได้ โดยต้องมีหลักฐานข้อเท็จจริงมากเพียงพอ และทำให้มั่นใจว่าผู้โทรมาร้องเรียนจะได้รับการคุ้มครองเพื่อความปลอดภัย เมื่อร้องเรียนแล้ว ต้องไม่เพิกเฉย แต่ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน เช่น ภายในเวลา 7 วัน หลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ ต้องเปิดช่องทางให้นักเรียนร้องเรียนไปยังสื่อมวลชน หรือองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับผิดชอบเกิดความตื่นตัวที่จะดำเนินการให้รวดเร็ว และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะพิจารณาตัดสินอย่างเป็นธรรม ป้องกันปัญหาการช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิด
ที่สำคัญที่สุด เด็กและเยาวชนควรได้รับการเรียนรู้เรื่องความเป็นธรรม ปฏิบัติต่อกันอย่างยุติธรรม มีใจที่เป็นกลาง รู้จักการเคารพสิทธิสรีภาพของผู้อื่น ให้เกียรติทุกคนอย่างเหมาะสม และยึดหลัก “คนบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิด” ไม่ใช่ยึดหลักว่า “คนผิด จนกว่าจะพิสูจน์ตนเองว่าบริสุทธิ์” โดยยึดกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาตัดสิน
เด็กและเยาวชนจะเติบโตเป็นคนที่รังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่น และลุกขึ้นมาจัดการ โดยใช้ ‘กฎหมู่’ หรือ ‘กฎหมาย’ จะใช้ ‘เหตุผล’ หรือ ให้ ‘อารมณ์’ พาไป ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในวันนี้จะส่งเสริม และอบรมสั่งสอนพวกเขาไปในทิศทางใด
ในความเห็นของผม เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้วิธีการแสดงออกอย่างถูกต้อง เป็นขั้นเป็นตอน และการประท้วงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากที่ทุก ๆ ขั้นตอนล้มเหลวแล้ว
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
คอลัมน์ : คิดเป็นเห็นต่าง
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://isnhotnews.com/images/jaaopiggy/Dec57b/241257-2.jpg