วันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สถาบันการสร้างชาติ (NBI) ร่วมกับสถาบันการสร้างชาติ มาเลเซีย และสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Conference on Nation-Building 2019 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 และเป็นครั้งแรกที่จะจัดงานในประเทศมาเลเซีย หัวข้อการประชุมในปีนี้ คือ “Connecting Government, Business and Civil Society towards the Development of a High Income Nation”
หัวข้อการประชุมครั้งนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่า การสร้างชาติเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกภาคกิจ แต่ในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐกิจทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ชอบผูกขาดการพัฒนาประเทศ ภาคธุรกิจดำเนินงานหากำไรเป็นจุดมุ่งโดยไม่ฝักใฝ่ไม่เชื่อมโยงกับสังคม และมักไม่ใส่ใจปัญหาสังคม ในขณะที่ภาคประชากิจมีอุดมการณ์แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐกิจและภาคธุรกิจเท่าที่ควร
การพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูงเป็นเป้าหมายหนึ่งของการสร้างชาติ แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายมาก รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า มีประเทศรายได้ปานกลางเพียง 13 จาก 101 ประเทศทั่วโลกในปี 1960 สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง ในปี 2008 ความร่วมมือของทุกภาคกิจจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
ความร่วมมือ 3 ภาคกิจช่วยสนับสนุนการพัฒนาสู่ประเทศรายได้สูงได้อย่างไร?
ผมได้เสนอแนวคิด “อารยตรีกิจ” กล่าวคือ ในสังคมหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย 3 ภาคกิจ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ประกอบด้วย ภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ การเชื่อมโยง 3 ภาคกิจ จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ประเทศรายได้สูงได้ โดยผ่านการพัฒนา 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย
เศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovative Economy)
ผมได้นำเสนอ “ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม : คลื่นอารยะ 7 ลูก” (ในหนังสือ สยามอารยะ แมนนิเฟสโตฯ) ประเทศที่สามารถขี่ยอดคลื่นในแต่ละยุคได้ก่อนจะกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลก ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจความรู้ซึ่งมีเครื่องมือแห่งยุค คือ ศาสตร์ต่าง ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่การสร้างนวัตกรรมในยุคนี้จะเกิดจากการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) และเกิดภายใต้ระบบนิเวศน์นวัตกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชากิจ
สังคมเสมอภาค (Inclusive Society)
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ติดกับดักรายได้ปานกลาง คือ ความไม่เท่าเทียมกันจวรรณกรรม ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศต่างๆ ติด บเดิม ที่เสื่อมถอยลง ทำให้ประเทศขาดแคลนทุนมนุษย์ ขาดพลังการบริโภค อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ในขณะที่แนวโน้มสังคมมีความซับซ้อนหลากหลาย มีปัญหาข้ามขอบเขตมากขึ้น การพัฒนาประเทศสู่ประเทศรายได้สูงจึีคกิจ ามงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคกิจ เพราะภาครัฐกิจไม่มีกำลังพอจะดูแลทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ ทุกประเด็นได้อย่างทั่วถึง และไม่สามารถจัดการปัญหาที่ซับซ้อนได้เพียงลำพัง
การเมืองบริบูรณ์ธรรม (Integrity Politics)
จากบทเรียนของประเทศต่าง ๆ การจะพัฒนาสู่ประเทศรายได้สูงได้นั้น คน ระบบ และบริบทของประเทศต้องมีสิ่งที่ผมเรียกว่า “ไตรภาวะ” ประกอบด้วย ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม แต่ปัญหาคือ ประเทศรายได้ปานกลางจำนวนมากขาดธรรมาภิบาล เพราะนักการเมืองขาดเจตจำนงในการพัฒนาประเทศ แต่เข้าสู่อำนาจเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง การสร้างการเมืองบริบูรณ์ธรรมจึงต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ภาคกิจ เพื่อสร้างฉันทานุมัติเกี่ยวกับทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์
จะสร้างความร่วมมือ 3 ภาคกิจได้อย่างไร?
ผมมีข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการเชื่อมโยง 3 ภาคกิจ ดังนี้
สร้างอุดมการณ์ร่วม (Joint Ideology)
การสร้างความร่วมมือ 3 ภาคกิจควรเริ่มต้นที่การสร้างกระบวนทัศน์ความคิดร่วมกันก่อน ทั้งนี้เมื่อ 21 ปีที่แล้ว ผมได้นำเสนอแนวคิด “อารยชาติทัศน์” (ในหนังสือ มองฝันวันข้างหน้าฯ) โดยกล่าวถึง กระบวนการทางความคิดในการสร้างชาติ เริ่มต้นจากการกำหนดอุดมการณ์แห่งชาติ แล้วนำไปสู่วิสัยทัศน์แห่งชาติ นโยบายแห่งชาติ วาระแห่งชาติและผลประโยชน์แห่งชาติในที่สุด อารยชาติทัศน์เป็นเหมือนพิมพ์เขียวสำหรับความร่วมมือกันสร้างชาติ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันว่า จะสร้างชาติอย่างไร และลดความขัดแย้งในการร่วมมือกัน
สร้างความรับผิดชอบร่วม (Joint Responsibility)
ผมคิดว่า ความรับผิดชอบของทั้งสามภาคกิจควรเป็นลักษณะ “ความรับผิดชอบร่วม” ไม่ใช่ ความรับผิดชอบเพียงผู้เดียว (sole) บางส่วน (partial) ส่วนเพิ่ม (additional) หรือทางเลือก (optional) เพราะแต่ละภาคกิจมีจุดแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกัน จึงควรรับผิดชอบร่วมกันเพื่อจัดการแต่ละประเด็นอย่างมีประสิทธิผล ภาครัฐกิจควรมีความรับผิดชอบหลักในเชิงปฐมกิจ (Primary Joint Responsibility) โดยมองภาพรวมของการพัฒนาประเทศ กระจายความรับผิดชอบหรือส่งเสริมให้ภาคกิจอื่น ๆ ร่วมขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นเอกภาพและบูรณาการ
สร้างสัญญาร่วม (Joint Contract)
หากพิจารณาบทบาทภาคกิจต่าง ๆ โมเดลการพัฒนาประเทศมี 2 โมเดลหลัก คือ “Big Business” ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และ “Big Government” ซึ่งรัฐมีอำนาจกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน เน้นการสร้างความเท่าเทียม แต่มักจะขาดประสิทธิภาพและขาดความยืดหยุ่น ผมจึงขอเสนอทางเลือกที่ 3 คือ “Big Civil Society” หรือที่ผมสร้างทฤษฎีรองรับใหม่เรียกว่า “Neo-Social Contract” หรือ “สัญญาประชาคมใหม่” เน้นส่งเสริมบทบาทของภาคประชากิจ เพราะเป็นภาคกิจที่ใกล้ชิดประชาชน เข้าใจปัญหา มีอุดมการณ์ และได้รับความไว้วางใจมากกว่าภาคกิจอื่น แต่ขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากร ภาคกิจอื่น ๆ จึงควรส่งเสริมให้มีศักยภาพและมีบทบาทมากขึ้น
สร้างแพลตฟอร์มร่วม (Joint Platform)
อุปสรรคของประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศ คือ ระบบการเมืองขาดคุณภาพ การพัฒนาประเทศจึงจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน โดยสร้างแพลตฟอร์มหรือจัดระบบที่เอื้อต่อการร่วมมือกันให้เกิดปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือภายในภาคกิจเดียวกันและข้ามภาคกิจ ทั้งการจัดโครงสร้าง กระบวนการ กฎระเบียบ/มาตรฐาน ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี และสถาบันที่เอื้อให้เกิดชุมชนนักสร้างชาติ ปลดปล่อยศักยภาพของทุกภาคกิจอย่างเต็มที่ เพื่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูงเป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งของการสร้างชาติ แต่ความสำเร็จที่แท้จริง คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในประเทศ และการเสียสละอุทิศตนของคนในชาติเพื่อผู้อื่น ดังคำกล่าวของ Napoleon Hill ที่ว่า “Great achievement is usually born of great sacrifice, and is never the result of selfishness”
ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านที่ปรารถนาจะมีส่วนร่วมสร้างชาติ สละเวลามาร่วมเรียนรู้ แบ่งปันความรู้และประสบการณ์การสร้างชาติ กับบรรดานักสร้างชาติจากหลายประเทศทั่วโลก ในการประชุมครั้งนี้ครับ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com