การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การหมิ่นประมาทกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย แต่น่าเสียดายที่สังคมส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามความร้ายแรงของปัญหานี้

ซึ่งผมมองว่า การหมิ่นประมาท เปรียบเสมือน “ฆาตกรรมชื่อเสียง” ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำตลอดชีวิต ต่างจากการฆาตกรรมทางกายที่จบลงในคราวเดียว แต่การหมิ่นประมาททำให้ผู้ถูกกระทำต้องเหมือน “ตายทั้งเป็น” ทนทุกข์ทรมานกับการสูญเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือไปตลอดชีวิต

ในประเทศไทย คดีหมิ่นประมาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 ต่อปี โดยในปี 2563 มีคดีสูงถึง 5,189 คดี ยังไม่รวมกรณีที่ไม่ได้เป็นคดีความซึ่งน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้มาก สาเหตุสำคัญมาจากการที่สังคมไทยมองว่าการหมิ่นประมาทไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรง

เนื่องจากมองไม่เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นทางกายภาพ และการที่สื่อบางสำนักหรือบางครั้งมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือผลกระทบทางสังคม เพราะโดยธรรมชาติแล้วข่าวเชิงลบจะเป็นที่สนใจ ขายได้ดี หรือแพร่กระจายไปได้เร็วกว่าข่าวดีหรือข่าวเชิงบวก

อาทิ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือแม้แต่การเผยแพร่ข้อความที่เป็นจริง แต่นำเสนอในลักษณะมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดความเกลียดชัง ดูหมิ่น แก่บุคคลที่สาม การกระทำดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการพูด การเขียน การใช้ภาพ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นต้น

สังคมไทยมักมองการ หมิ่นประมาท เป็นความผิดเล็กน้อย ประกอบกับบทลงโทษทางกฎหมายที่ค่อนข้างเบา จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามความร้ายแรงนี้

แต่ผมกลับคิดว่า แม้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการคิด พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา และการสื่อสารจะเป็นสิ่งสำคัญในสังคมประชาธิปไตย แต่เสรีภาพเหล่านี้จำเป็นต้องมีขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น คือการ “มีสิทธิเสมอหน้าที่” กล่าวคือ ทุกฝ่ายควรเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน

แม้ว่าสังคมที่ดีควรเปิดกว้างทางความคิด อนุญาตให้มีการแสดงออกทางวิชาการ การวิจัย การนำเสนอข่าวสารโดยปราศจากการกดดัน และการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างก็จริง

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การใช้เสรีภาพโดยขาดความรับผิดชอบ แม้แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีการกำหนดขอบเขตของเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นสังคมไทยจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการเคารพสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการหมิ่นประมาท ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อชื่อเสียงและชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นได้

ผมมองว่าสังคมไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้มากขึ้น ทั้งภาครัฐและประชาชนควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ผมจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. กำหนดค่าเสียหายของการถูกหมิ่นประมาทให้เหมาะสม
การกำหนดค่าเสียหายโดยศาลที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามหรือยับยั้งการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในสังคม ในคดีหมิ่นประมาทรวมทั้งคดีอื่นๆ ศาลควรกำหนดค่าเสียหายให้ครอบคลุมถึงความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งความเสียหายที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

เช่น ความไม่สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ดังเดิมของบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ใช่การสูญเสียสิ่งที่เป็นตัวเงิน รวมถึงค่าเสียโอกาสซึ่งเป็นความเสียหายที่มิได้เกิดจากการสูญเสียสิ่งที่มีอยู่แล้ว

แต่เป็นการสูญเสียประโยชน์จากสิ่งที่พึงจะได้รับแต่กลับไม่ได้รับ เนื่องจากถูกหมิ่นประมาท ทั้งการสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

หลักที่สำคัญประการหนึ่งของการกำหนดค่าเสียหาย คือ การกำหนดค่าเสียหายที่เพียงพอที่ทำให้ผู้เสียหายกลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด

ในกรณีของการหมิ่นประมาท ในทางปฏิบัติแล้วอาจกล่าวได้ว่าไม่มีหนทางที่จะทำให้ผู้เสียหายกลับสู่สภาพเดิมได้เลย เนื่องจากไม่สามารถไม่สามารถกลับไปแก้ไขข่าวเชิงลบกับทุกคนที่ได้รับข่าวสารตอนแรกไปแล้ว หรือไม่สามารถฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ดังเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่ข่าวสารบนสื่ออินเทอร์เน็ตซึ่งจะมี “รอยเท้าดิจิทัล” อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตตลอดไป ในทางปฏิบัติ แม้ศาลจะกำหนดให้มีการโฆษณาเพื่อแก้ไขข่าว แต่มักไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายกลับสู่สภาพที่ใกล้เคียงสภาพเดิม

เนื่องจากมิใช่ทุกคนที่ได้รับข่าวเชิงลบไปแล้วจะได้รับข่าวแก้ไขนั้น และผู้ที่ได้รับข่าวแก้ไขมีแนวโน้มมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับข่าวเชิงลบไปในตอนแรก เนื่องจากข่าวเชิงลบจะกระจายไปได้วงกว้างกว่ามาก เพราะคนให้ความสนใจมากกว่า

นอกจากนี้ ในบางครั้งค่าเสียหายเชิงชดเชยอาจไม่สามารถยับยั้งการกระทำผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ละเมิดมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี จึงควรมีการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษร่วมด้วย หรือการกำหนดค่าเสียหายที่แปรผันตามสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ละเมิด เพื่อสร้างต้นทุนของการหมิ่นประมาทให้แก่ผู้ละเมิดให้สูงเพียงพอที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในอนาคต หรือไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างด้วย

2. ส่งเสริมจริยธรรมของผู้รับสารที่ดี
ผู้รับสารควรมีความระมัดระวังในการรับข้อมูล ไม่เชื่อทันที แต่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ ผมเสนอว่าต้องผ่านกระบวนความเห็น สะท้อนคิด วินิจฉัยกลั่นกรอง จนเกิดการตระหนักรู้อย่างเป็นขั้นตอนให้ครบถ้วน 4 กระบวนได้แก่ กระบวนคิด กระบวนรู้ กระบวนปัญญา กระบวนธรรม หรือ โมเดลที่ผม ตั้งชื่อว่า กระบวนธรรมะ – ปัญญา – รู้ – คิด

และไม่กระจายข่าวต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบ แม้เป็นเรื่องจริงแต่หากมีโอกาสทำให้ผู้อื่นเสียหาย ควรใช้ความระมัดระวังในการเผยแพร่ คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อผู้เสียหายและสังคมโดยรวม ควรมีทัศนคติที่เชื่อในส่วนดีของผู้อื่นไว้ก่อน ประเมินสถานการณ์อย่างเป็นธรรม เปิดใจรับฟังข้อมูลรอบด้านอย่างตั้งใจ และไม่สนับสนุนสื่อมวลชนที่ขาดจรรยาบรรณของสื่อ

3. ยกระดับมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน
สำหรับสื่อมวลชน การตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอเป็นสิ่งจำเป็น พึงพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่แสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากความเสียหายของผู้อื่นหรือสังคม การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เป็นธรรม และนำไปสู่สังคมที่เข้าใจกันมากขึ้น

4. สร้างกลไกการตรวจสอบและรับผิดชอบทางสังคม
ภาครัฐควรจัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังและรายงานการกระทำผิดด้วยการหมิ่นประมาท อีกทั้งพัฒนาช่องทางการร้องเรียนและแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

5. ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล
ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทให้ครอบคลุมการสื่อสารออนไลน์ กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับการ หมิ่นประมาท ในพื้นที่ดิจิทัล สร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองชื่อเสียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ท้ายที่สุด การแก้ปัญหาการหมิ่นประมาทไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม เราต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพ ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น และยึดมั่นในความจริง เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่และเป็นธรรมสำหรับทุกคน

การหมิ่นประมาทอาจดูเหมือนเป็นเพียงคำพูดหรือข้อความ แต่ผลกระทบของมันสามารถทำลายชีวิตและความสัมพันธ์ผู้อื่นได้ ดังนั้น ก่อนที่จะพูดหรือแชร์อะไร ลองคิดสักนิดว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคมอย่างไร เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้แล้วครับ