การสร้างผู้นำภาคธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติในอนาคต (2): มิติทางความคิด

จากบทความที่แล้ว ผมได้นำเสนอพฤติกรรมและลักษณะเชิงจิตวิทยาที่สำคัญ 2 ลักษณะ จากประสบการณ์ที่ผมได้พบเจอ โดยเฉพาะในสถาบันการสร้างชาติ  ในครั้งนี้ ผมจะนำเสนออีก 2 ลักษณะที่สำคัญ ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ เพื่อความสำเร็จในการสร้างผู้นำรุ่นต่อไป ดังต่อไปนี้

หมดเวลาสำหรับโรงเรียนแบบเก่าที่เน้น ‘ทางลัด’ มากกว่า ‘สอนคิด’  

โรงเรียนหรือสถาบันการสร้างผู้นำแบบเก่า ส่วนมากจะมุ่งเน้นไปที่การให้คำแนะนำที่เรียกว่า ‘ทางลัด’ หรือเป็นลักษณะ ‘How to’ ผมมองว่าวิธีการแบบนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาวทั้งต่อตัวคนรุ่นใหม่และองค์กร ถึงแม้ว่าทางลัดบางประการจะได้ชื่อว่าเป็นทางออกที่ชาญฉลาดและดูน่าเชื่อถือก็ตาม

สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ คือ ต้องสอนให้คิด ทั้งคิดเป็น คิดบวก คิดครบ และคิดดี  ซึ่งการให้สอนคิดนั้น นับเป็นจุดเด่นของสถาบันการสร้างชาติที่ผมกำลังทำอยู่ กล่าวคือ ผมจะพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ หรือ ‘Young Executive Program’ ไว้โดยเฉพาะ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ที่จะขึ้นเป็นผู้นำในอนาคตได้ใช้ความคิด สร้างกรอบความคิด และวางแผนการดำเนินงานในรูปโครงการที่เป็นประเด็นสำคัญทางสังคมและประเทศ ที่ผมเรียกว่า “โครงการ Cap-Corner Stone (CCS)”

ผมขอยกตัวอย่างโครงการที่เข้าข่ายเป็น CCS เช่น ยาช คุปตา (Yash Gupta) ได้จัดตั้งองค์กร Sight Learning ในปี 2011 เพื่อช่วยหาแว่นตาแก่เด็กทั่วโลก เนื่องด้วยเขาเป็นคนใส่แว่น และตระหนักว่า เมื่อแว่นพังหรือขาแว่นหัก จะทำให้ใส่แว่นไม่ได้ และมองไม่เห็น จนในที่สุดจะเรียนไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้คุปตาเริ่มจากการค้นคว้าหาความรู้และหางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วพบว่า มีเด็กกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ไม่มีแว่นตาดีๆ ที่ช่วยให้มองเห็นได้ชัดในชั้นเรียน ทั้งยังเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการเรียนลดลงร้อยละ 20

องค์กร Sight Learning มีพันธกิจ คือ “to provide eyeglasses to students who need them but cannot afford them” หรือ การจัดส่งแว่นตาให้กับนักเรียนที่ต้องการ แต่ไม่สามารถจ่ายเงินได้ โดยได้รวบรวมและบริจาคแว่นตามูลค่ากว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสามารถช่วยให้เยาวชนกว่า 2 แสนคนใน 5 ประเทศมองเห็นได้ดีขึ้น

ผู้ที่จะเป็นผู้นำหรือผู้สร้างชาติในอนาคต ต้องเรียนรู้ที่จะคิดค้นเครื่องมือที่จะใช้ได้จริง ตามประเด็นที่สนใจและมีความสำคัญ หัวหน้าหรือเจ้านายต้องยินดีสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ริเริ่มทำโครงการที่เป็นประเด็นสำคัญต่อสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ ผ่านการดำเนินการจริงผ่านโครงการขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ

การสร้างผู้นำจะต้องไม่เพียงให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น แต่ต้องฝึกฝนให้มีวิสัยทัศน์ชัดเจน รู้จักกำหนดวัตถุประสงค์ของการทำงานที่แท้จริง ฝึกฝนวางแผนงาน รวมถึงมอบหมายงานที่ยากและท้าทายมากขึ้นให้ด้วย เพื่อจะสามารถเอาชนะความท้าทาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้

เปลี่ยนแนวคิดการทำงานจาก ‘เพื่อคุณ’ เป็น ‘ร่วมกับคุณ’

คนรุ่นใหม่มีอุดมคติที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า แทนที่จะเป็นเพียงพนักงานที่ทำงานตามหน้าที่

วิธีการที่ง่ายที่จะได้ใจคนรุ่นใหม่ คือ ให้พวกเขาเข้าถึงงานที่ต้องใช้ความสามารถและความท้าทายในการตัดสินใจอย่างมาก เพื่อสะท้อนถึงโอกาสความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพและประสบการณ์ใหม่ๆ  ที่พวกเขาจะได้รับในอนาคต โดยที่เงินก็ซื้อไม่ได้ รวมถึงปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างให้เกียรติ ให้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของภาพรวมองค์กรหรือบริษัท แทนที่จะมอบหมายงานและให้ทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว

มากยิ่งกว่านั้น คนทำงานรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในชีวิตมากกว่าการได้รับเงินพิเศษหรือเงินค่าล่วงเวลา และต้องการความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าปกติ เช่น การเข้างานได้สายขึ้นและออกช้ากว่าปกติ หรือมีเสรีภาพในการเลือกสถานที่ทำงาน เช่น การไม่เข้าออฟฟิศทุกวัน หรือการขอทำงานในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

ด้วยประสบการณ์ที่ผมได้พบเจอ คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นหรือคำวิจารณ์เชิงบวกมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ นายจ้างจึงจำเป็นจะต้องตระหนัก และมุ่งเน้นการพูดคุย สื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อดึงและใช้ศักยภาพของคนยุคนี้ได้อย่างเต็มกำลังและด้วยความเต็มใจ

นอกจากนี้ ในแง่ของการให้รางวัลหรือการสร้างแรงจูงใจ ควรจะเป็นรูปแบบของการผ่อนผัน ผ่อนปรนจากเจ้านายหรือนายจ้าง โดยเฉพาะการให้รางวัลที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิต เช่น การแต่งกายที่สบายๆ การฟังเพลงขณะทำงาน การจัดอาหารเพื่อสุขภาพ การให้ที่จอดรถฟรี การให้บัตรส่วนลดสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น

โลกในอนาคตเป็นโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน ทั้งคนรุ่นเก่า ยุคบุกเบิกและคนรุ่นใหม่ อันจะสร้างผลกระทบและนำเปลี่ยนแปลงมาสู่ทุกองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากทุกองค์กรมีการเตรียมพร้อมที่ดี และมีผู้นำรุ่นปัจจุบันที่มีความเข้าใจ ตระหนัก และใส่ใจเรียนรู้ถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ต่อให้ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาหรือความท้าทายมากมายเพียงใด ก็จะสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *