การพัฒนาเมืองสะอาด : บทเรียนจากสต็อกโฮล์ม

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการกว้านซื้อหน้ากากอนามัยจนขาดตลาด และการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง

ถึงแม้ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เกิดจากสภาพอากาศปิดและไม่มีลม ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวหรือลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพราะจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า กรุงเทพฯ มีค่า PM 2.5 เฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2014 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “คุณภาพอากาศดีมาก” (0-25 มคก./ลบ.ม.) ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ อาจไม่ได้รู้สึกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สะอาด และมีอากาศดีจนมั่นใจได้ว่าสามารถสูดได้เต็มปอด

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับเมืองหลวงของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งจะพบว่า เมืองเหล่านี้มีค่า PM 2.5 ในระดับเลขตัวเดียว เช่น กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุดในโลก (6 มคก./ลบ.ม.) กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย และกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา (7 มคก./ลบ.ม.) กรุงเอดินเบิร์ก ประเทศสก็อตแลนด์ (8 มคก./ลบ.ม.) กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (9 มคก./ลบ.ม.) เป็นต้น

ในบทความนี้ ผมจะขอกล่าวถึงกรุงสต็อกโฮล์ม เพื่อพิจารณาว่า เขาทำอย่างไรจึงกลายเป็นเมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุดในโลก เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพอากาศดีขึ้น และกลายเป็นเมืองสะอาดในทุกมิติ

  1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายใจ

ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพอากาศในกรุงสต็อกโฮล์มมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990 กรุงสต็อกโฮล์มประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 25 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงสต็อกโฮล์มเป็นเมืองหลวงแห่งแรกที่ได้รับรางวัล “เมืองหลวงสีเขียวแห่งยุโรป” จากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ในปี 2010

แม้ปัจจุบัน กรุงสต็อกโฮล์มถือว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุดในโลก แต่การพัฒนายังไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ สภาของเมืองยังมีความทะเยอทะยานที่มากกว่านั้น โดยการตั้งเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นเมืองที่ปลอดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2050 ซึ่งหากเป้าหมายนี้สำเร็จ กรุงสต็อกโฮล์มน่าจะเป็นเมืองแรกของโลกที่ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายใจ จะส่งผลให้การพัฒนามีทิศทางที่ชัดเจน และสามารถวัดความก้าวหน้าและความสำเร็จได้ รวมทั้งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาเมืองจนบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้มาตรการที่มีการนำมาใช้เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกรุงสต็อกโฮล์ม เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะไปใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดในปี 2025  การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่สร้างมลภาวะน้อย เป็นต้น

  1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

การพัฒนากรุงสต็อกโฮล์มบรรจุประเด็นความยั่งยืนไว้ในทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิตในเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พลเมืองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม และที่ผ่านมา พลเมืองของสต็อกโฮล์มตระหนักถึงความสำคัญ และมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการพัฒนาเมืองของพวกเขา โดยพลเมือง  9 ใน 10 คน เชื่อในความสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว และร้อยละ 70 มีความสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนให้มีความเข้มงวดในการควบคุมให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม

การพัฒนากรุงสต็อกโฮล์มให้ความสำคัญกับเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาและรักษาพื้นที่สีเขียว โดยมีประชากรถึงร้อยละ 95 อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่สีเขียวเกินกว่า 300 เมตร นอกจากนี้ประชาชนยังถูกปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียวด้วย ส่งผลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง และรักสวนสาธารณะและแหล่งธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่งเปิดให้พวกเขาเข้าไปพักผ่อนและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี

  1. บูรณาการในทุกยุทธศาสตร์และการวางแผนเมือง

กรุงสต็อกโฮล์ม ไม่ได้แยกประเด็นความยั่งยืน (sustainability) ไว้ให้แผนกใดแผนกหนึ่งรับผิดชอบเพียงลำพัง แต่บูรณาการความยั่งยืนไว้ในการวางแผนเมือง ในทุกยุทธศาสตร์ และทุกนโยบาย รวมทั้งบูรณาการไว้ในระบบบริหารเมือง ระบบติดตามการดำเนินงาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แผนจะถูกนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ และลดปัญหาความขัดแย้งของเป้าหมายความยั่งยืนและเป้าหมายอื่นๆ

ตัวอย่างการวางแผนเมืองสีเขียวตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา กรุงสต็อกโฮล์มกำหนดแผนพัฒนาให้เป็น “the Walkable City” หรือเมืองที่ผู้คนสามารถเดินได้ โดยมีการวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างบูรณาการในหลายด้าน อาทิ

การพัฒนาเมือง โดยการทำให้พื้นที่เมืองอยู่ใกล้ชิดกันและมีความหนาแน่นสูงขึ้น และป้องกันไม่ให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไร้ทิศทาง เพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางลง รวมทั้งควบคุมการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ให้อยู่ใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นการขยายระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายถนนที่นำการจราจรหนาแน่นออกจากเมือง และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขี่จักรยานภายในเมือง และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยกรุงสต็อกโฮล์มเป็นเมืองหนึ่งที่มีโครงข่ายใยแก้วนำแสงแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การพัฒนาการจราจร โดยส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดิน และการขี่จักรยาน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เช่น การสร้างวัฒนธรรมการใช้จักรยาน การเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าเขตที่มีความแออัด เป็นต้น

เมื่อหันกลับมาพิจารณากรุงเทพมหานคร การพัฒนาเมืองหลวงของเราดูเหมือนขาดทิศทางที่ชัดเจน ประชาชนไม่ทราบว่า เรากำลังพัฒนาไปทิศไหน หรือมีเป้าหมายอะไรที่ต้องการไปให้ถึง ขณะที่ประชาชนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของเมือง และขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง นอกจากนี้ การพัฒนากรุงเทพฯ อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานที่ต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

หากถามว่า เราควรเริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดใดก่อน ผมคิดว่าประชาชนต้องเปลี่ยนความคิดและตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา ร่วมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และเลือกคนที่จะมาเปลี่ยนแปลงเมือง ไม่ใช่มาเล่นการเมือง ตลอดจนยินดีให้ความร่วมมือและจ่ายราคาเพื่อให้ได้มาซึ่งเมืองที่สะอาดขึ้น

สุดท้าย เราต้องมีความเชื่อว่า ถ้าสต็อกโฮล์ม หรืออีกฉายา คือ “เวนิสเหนือ” สามารถทำได้ แล้วทำไมกรุงเทพฯ หรือ “เวนิสตะวันออก” ถึงจะทำไม่ได้

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *