กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2551 เกิดข้อถกเถียงของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นที่ว่า กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่(emerging economy) จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามสหรัฐไปหรือไม่ ข้อถกเถียงดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า “Economic Decoupling” ซึ่งพยายามอธิบายว่า เศรษฐกิจเกิดใหม่จะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจเกิดใหม่พึ่งพาสหรัฐลดลง แต่มีการพึ่งพากันเองมากขึ้น และพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น
แนวคิดดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วยความแตกต่างของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยในขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลกทั้งในเอเชียตะวันออก กลุ่ม BRICS ละตินอเมริกา หรือแม้แต่ในแอฟริกามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำหรือแทบไม่ขยายตัวเลย
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ความแตกต่างดังกล่าวปรากฏชัดเจนขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาและวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซน ในขณะที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับสามของโลกอย่างญี่ปุ่นเผชิญภาวะเงินฝืดซึ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาเป็นเวลานานนับสิบปีหลังจากฟองสบู่แตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 จนถูกเรียกว่า “ทศวรรษที่หายไป” (Lost Decade) แต่เศรษฐกิจเกิดใหม่กลับมีอัตราการขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะจีนที่มีการขยายตัวในระดับร้อยละ 8-10 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมามีสัญญาณบวก ทั้งอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น ยอดขายและราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น และดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เศรษฐกิจยูโรโซนกลับอยู่ในภาวะถดถอย และหลายประเทศในยุโรปยังต้องเผชิญปัญหาความยุ่งยากทางเศรษฐกิจและการเมือง ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจของบางประเทศเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยกรณีล่าสุดคือวิกฤตสถาบันการเงินในไซปรัส
คำถามเกี่ยวกับ economic decoupling จึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เป็นคำถามที่ว่า “เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปกำลังเกิดภาวะ economic decoupling หรือไม่”
หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีลักษณะแกว่งตัวโดยขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงเวลาเดียวกันยังแกว่งตัวอยู่ในโซนติดลบอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญจาก Now-Casting Economics ได้ใช้แบบจำลองในการวิเคราะห์พบว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยูโรโซนมีทิศทางที่แยกออกจากกันตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2554 โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น แต่เศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางหดตัวลง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว คือ แนวนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรป โดยรัฐบาลในกลุ่มยูโรโซนมีทิศทางนโยบายตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลงอย่างมหาศาล เพิ่มอัตราภาษี และลดอัตราค่าจ้างแรงงาน เพื่อแก้วิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางสหรัฐใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการพิมพ์เงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชนและการลงทุนของภาคธุรกิจ ในขณะที่ธนาคารกลางของยุโรปมีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศในกลุ่มยูโรโซนยังขาดความยืดหยุ่นในการปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจากภาวะเงินฝืดเป็นการเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยประกาศนโยบายขยายฐานเงินเพิ่มขึ้นปีละ 60 ถึง 70 ล้านล้านเยน (หรือ 645,000-755,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และโครงการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล มูลค่า 50 ล้านล้านเยน เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกแยกออกเป็น 3 กลุ่ม หรือที่ผมเรียกว่า “ไตรภาวะของเศรษฐกิจโลก” กล่าวคือ เศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง เศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายในระดับต่ำ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในยุโรปที่อยู่ในภาวะชะลอตัวจนถึงถดถอย
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ไตรภาวะของเศรษฐกิจโลก ที่เกิดจาก economic decoupling ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ยั่งยืนหรือหยุดนิ่ง แต่เป็นผลของพลวัตทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่มีต่อนโยบายและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก เช่น เมื่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลง กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ และลดการพึ่งพาตลาดในประเทศพัฒนาแล้วลง เป็นต้น
นอกจากนี้ การแยกกันของเศรษฐกิจโลกเป็น 3 กลุ่ม เป็นการแบ่งแยกที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงหรือการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก กล่าวคือ กลุ่มประเทศพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศลดลง ทำให้การส่งผ่านผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านทางการค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้จำกัด แต่ความเชื่อมโยงกันทางการเงินยังมีอยู่สูง ทำให้ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจส่งผ่านทางระบบการเงินโลกได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สังเกตได้จากการผลกระทบของการไหลของเงินทุนระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในปัจจุบัน
ประเด็นที่ต้องพึงระวังคือ นโยบายที่สหรัฐและญี่ปุ่นกำลังดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตนนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็วและไม่แบ่งแยก แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในแง่ที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นและอาจทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐและญี่ปุ่นขยายตัวขึ้น แต่ในภาวะที่มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะทำให้เม็ดเงินไหลออกไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินท้องถิ่นแข็งค่าและมีแรงกดดันทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนและภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป แต่หากเราชะล่าใจโดยคิดไปว่า ประเทศไทยเกาะอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งน่าจะมีการขยายตัวสูงที่สุดในสามโลก และหากการบริหารจัดการเศรษฐกิจขาดความรอบคอบและระมัดระวัง เศรษฐกิจไทยอาจตกสวรรค์โดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้
นโยบายที่สหรัฐและญี่ปุ่นกำลังดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตนจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.tutor2u.net/blog/images/uploads/world_economy.jpg