ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการให้ 3T คือ เวลา (Time) ทรัพย์ศฤงคารเงินทอง (Treasure) และความสามารถ สมรรถนะ (Talent) เช่น ความรู้ ทักษะ ความคิด เป็นต้น เราแต่ละบุคคลควรมีส่วนนำทั้ง 3 สิ่งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม[1] การบริจาคของศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างที่ดีของการให้ 3T ตามความคิดของผม คือ การให้อย่างมีเป้าหมายและมียุทธศาสตร์ทำให้เกิดการทวีคูณผลลัพธ์หรือผลกระทบ ที่สำคัญการให้ดังกล่าวนี้ยังมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศชาติและสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการของโลกอีกทางหนึ่ง
นอกจากการส่งเสริมให้ประชาคมมหาวิทยาลัยให้เวลาและความสามารถ สมรรถนะ ตามที่ผมเคยนำเสนอบ้างแล้วในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับครั้งนี้อยากนำเสนอเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับการให้ทรัพย์ศฤงคารเงินทอง ด้วยว่าฮาร์วาร์ดมีความโดดเด่นทางด้านนี้
อย่างที่ทราบกันฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเงินกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย (Endowment Fund) เป็นจำนวนมากติดอันดับต้นของโลก เงินดังกล่าวเหล่านี้จำนวนหนึ่งมาจากกลุ่มศิษย์เก่าที่บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดสามารถรักษาคุณภาพการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก การบริจาคของศิษย์เก่าดังกล่าวนี้มีมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา แหล่งข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ ศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ดและภรรยาบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาหรือประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทสำหรับสนับสนุนศูนย์วิทยาศาสตร์ (Science Center) เป็นทุนการศึกษาทางคณิตศาสตร์ (enhance mathematics scholarship) และทรัพยากรสำหรับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) การให้ครั้งนี้เป็นจำนวนเงินมากสุดนับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของอธิการบดีของ แลร์รี บาคาว (Larry Bacow) โดยจำนวนเงินก้อนใหญ่สุดจะถูกมอบให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์อันเป็นศูนย์กลางทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี
การบริจาคครั้งนี้จะจัดสรรแบ่งเป็น 2 ส่วนสำหรับโปรแกรมทางด้านคณิตศาสตร์ ทุนส่วนที่ 1 เป็นทุนแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการทางคณิตศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ระหว่างฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยในอิสราเอล โดยจะให้ทรัพยากรกับการวิจัย การบรรยาย การท่องเที่ยว และกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาหลังปริญญาเอก และอาจารย์ ทุนส่วนที่ 2 เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยระดับหลังปริญญาเอกด้านการเงินทางคณิตศาสตร์ (mathematical finance) และบางส่วนถูกจัดสรรสำหรับผู้นำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในการจัดการความต้องการที่เร่งด่วนและโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาเพื่อใช้ในการสนับสนุนนักศึกษา คณาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีต่าง ๆ[2]
กรณีมหาวิทยาลัยไทยควรมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมีการให้ 3T ดังกล่าวนี้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมจิตวิญญาณของการเป็น “ผู้ให้” เป็นคนดีที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวตามที่ผมเคยนำเสนอหลายเวที โดยในส่วนของการให้ทรัพย์ศฤงคารเงินทอง มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้ประชาคมมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่าเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การพัฒนาให้มีเงินกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยตามที่ผมเคยนำเสนอ ด้วยว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกนอกระบบราชการจำเป็นต้องหารายได้ด้วยตนเอง การบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างโอกาสที่สำคัญ อันเป็นตัวอย่างของการให้อย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง ครับ
[1] ผมนำเสนออย่างเป็นทางการในการปาฐกถาหัวข้อ อารยะความรัก ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560.
[2] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/10/100m-gift-will-support-sciences-and-math-at-harvard/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ 16 – พฤหัสบดี 22 พฤศจิกายน 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com