ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ Digital Disruption หรือการทำลายล้างสิ่งเก่า ๆ ออกไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีด้านดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง ส่งผลกระทบไปทุกแวดวง ทั้งการค้า การทำธุรกิจ การผลิต การใช้ชีวิต การใช้จ่าย พักผ่อน การศึกษา ฯลฯ
ในขณะเดียวกัน โลกมีแนวโน้มเข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th industrial revolution) ด้วย อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการต่อยอดและผสมผสานหลอมรวมของเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ชั้นสูง ระบบอัตโนมัติรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีบล็อคเชน (block chain) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ การพัฒนาตัดต่อยีนทางพันธุกรรม คอมพิวเตอร์ควอนตัม เป็นต้น
องค์กรทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบและเตรียมพร้อมสำหรับแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต่ออุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วกำลังยกเครื่องอุตสาหกรรมใหม่ (reindustrialization) เพื่อพัฒนาฐานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย (โรงงานฉลาด กระบวนการผลิตที่ฉลาด) บูรณาการเทคโนโลยีดิจิตอลในกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการผลิตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4
ขณะเดียวกัน อาเซียนได้พยายามเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน อาทิ จัดทำ ASEAN Blueprint 2025 ซึ่งต่อยอดจาก ASEAN Blueprint 2015 การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 การจัด ASEAN ICT Masterplan 2020 เช่น ส่งเสริมการค้าดิจิทัลในอาเซียน การจัดทำแพล็ตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้ง เป็นต้น
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้เกิดโอกาสบางประการแก่อาเซียน ได้แก่
- โอกาสในการพัฒนาความมั่งคั่ง (Prosperity development)
Digital Disruption และการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะสร้างโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างเศรษฐกิจใหม่และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดั้งเดิม จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียนเพิ่มขึ้น 220 – 625 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2030
นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และ startup เช่น การเพิ่มโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ระบบการเงิน และตลาด การติดต่อสื่อสารกับซับพลายเออร์ คู่ค้า ผู้จัดหาโลจิสติกส์ และลูกค้าได้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่สั่งซื้อจนถึงชำระค่าสินค้า เป็นต้น
- โอกาสในการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Inclusive development)
เทคโนโลยีใหม่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล การศึกษา และฝึกอบรม (เช่น ระบบการศึกษาออนไลน์) การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ (เช่น การบริการการแพทย์ทางไกล) การเข้าถึงบริการทางการเงิน (เช่น การธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ)
ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนผู้ใช้มือถือในอาเซียนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 133 ของจำนวนประชากร โดยมีการขยายตัวร้อยละ 8 ในปี 2016 ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับ 4 ของโลก (รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา) คิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนประชากร โดยมีการขยายตัวร้อยละ 31 ในปี 2016 โดยเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือถึงร้อยละ 47 ของจำนวนประชากร
- โอกาสในการพัฒนาแบบก้าวกระโดด (Leapfrog development)
การพัฒนาทางเทคโนโลยี จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถข้ามขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมได้ เนื่องจากความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่บางประเภทลดลง เช่น ความจำเป็นในการสร้างระบบสายส่งเชื่อมทั่วประเทศลดลง เพราะทุกพื้นที่สามารถผลิตพลังงานเองได้ และมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่สมัยใหม่ในการสะสมพลังงานไฟฟ้า หรือการใช้โดรนขนส่งสินค้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีถนนไปยังพื้นที่ห่างไกล
ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนทางกายภาพจำนวนมากเหมือนในอดีต เช่น ธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสาขาทั่วประเทศ ธุรกิจค้าปลีกอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ธุรกิจในเศรษฐกิจการแบ่งปัน (sharing economy) อาจไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างของ Uber ไม่ต้องมีรถแท็กซี่ของตนเอง AirBNB ไม่ต้องมีห้องพักของตัวเอง เป็นต้น
- โอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development)
เทคโนโลยีใหม่จะสร้างโอกาสในการปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีในการตรวจจับและวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาการเตรียมความพร้อมเรื่องภัยทางธรรมชาติ
อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ยังช่วยในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการจราจรอัจฉริยะที่ช่วยแก้ปัญหารถติด การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนเองได้ จะช่วยลดมลพิษทางอากาศและปัญหารถติด ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดการเดินทาง เพราะผู้คนสามารถทำธุรกรรมแทบทุกอย่างบนออนไลน์ได้
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันและที่กำลังจะมาถึง จะส่งผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และรวดเร็ว ผู้เล่นทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล โดยเฉพาะเยาวชน ระดับภาคกิจ ทั้งรัฐกิจ ธุรกิจ และ ประชากิจ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่และสอดประสานกัน รวมทั้งการสร้างสมดุลของการดำเนินการเชิงรุกไปข้างหน้าและเตรียมการรองรับและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ประเทศในอาเซียนจึงต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย และทำงานหนักในการสร้างความตระหนัก ขับเคลื่อนองคาพยพต่าง ๆ และลดแรงต้านจากโครงสร้างอำนาจ เศรษฐกิจ และสังคมแบบเดิม
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com