คอลัมภ์ : การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
ประเทศไทยได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร คงเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังตั้งคำถาม เวลานี้ประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วงหาเสียงพวกเขาได้สัญญาแก่ประชาชนและได้แสดงความตั้งใจที่จะทำเพื่อประชาชนและประเทศ และคนเหล่านี้กำลังจะเข้าไปทำในสิ่งที่ได้หาเสียงไว้
ในทางวิชาการ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของประเทศ งานศึกษาจำนวนหนึ่งได้
อธิบายว่ารัฐบาลที่ดูแลกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (property right) เป็นอย่างดี ไม่ออกกฎระเบียบควบคุมมากเกินไป และพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นรัฐบาลที่ทำให้เอกชนมีแรงจูงใจในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (แต่ว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลใหม่ของไทยที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่จะเป็นอย่างไร เรายังไม่อาจทราบได้)?
งานศึกษาบางส่วนชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจที่ทำให้นักการเมืองกำหนดนโยบายที่ดีเหมาะสมนั้น เป็นผลมาจากสถาบันทางการเมือง ที่มีการควบคุมการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง ประกอบกับปัจจัยเรื่องความซื่อสัตย์และความสามารถของนักการเมือง ซึ่งผลการศึกษาเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นำทางการเมืองมีผลอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานในด้านเศรษฐกิจ?
คำถามที่น่าสนใจต่อมา คือ เราจะทำอย่างไรให้นักการเมืองมีแรงจูงใจที่จะกำหนดนโยบายที่ดีเหมาะสมและทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงคะแนน?
นักการเมืองแต่ละคนอาจมีแรงจูงใจที่ต่างกัน แรงจูงใจในการเข้ามาทำหน้าที่อาจมีความหลากหลาย บางคนเข้ามา เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในการได้อยู่ในอำนาจ บางคนต้องการทำหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดี บางคนต้องการที่จะนำนโยบายที่ตนเองเห็นว่าดีสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตนไปปฏิบัติ หรือบางคนทำเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนเองอยู่
Diermeier, Keane, and Merlo (2005) พบว่าผลตอบแทนทางการเงินนั้นเป็นสิ่งจูงใจที่ดี การขึ้นเงินเดือนให้นักการเมืองร้อยละ 20 ทำให้ความน่าจะเป็นในการลงรับเลือกตั้งอีกครั้งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.2 เป็นร้อยละ 94.2 ในทางตรงกันข้ามการลดเงินเดือนลงร้อยละ 20 ทำให้ช่วงเวลาเฉลี่ยในการทำงานทางด้านการเมืองลดลงร้อยละ 14 และทำให้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถลดลงในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น?
ขณะที่ Ferraz and Finan (2009) ค้นพบเช่นเดียวกันว่าผลตอบแทนทางการเงินมีความสำคัญในการจูงใจนักการเมือง การขึ้นเงินเดือนให้นักการเมืองไม่เพียงแต่ดึงดูดคนทั่วไปให้เข้ามาลงแข่งขันในการเลือกตั้งแล้ว ยังดึงดูดคนที่มีการศึกษาสูงเข้ามามากขึ้น พื้นที่ที่มีการให้เงินเดือนนักการเมืองในอัตราที่สูงกว่าจะได้นักการเมืองที่มีการศึกษาและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า นอกจากนี้ การขึ้นเงินเดือนให้นักการเมืองยังมีผลทางบวกต่อผลงานของพวกเขาด้วย (หากพิจารณาจากจำนวนกฎหมายที่ยื่นต่อรัฐสภาและจำนวนกฎหมายที่ได้รับการอนุมัติ)?
แน่นอนว่า เงินเป็นสิ่งที่จูงใจให้คนส่วนใหญ่ทำหรือไม่ทำอะไร แต่ว่างานการเมืองนั้นเป็นงานที่สูงส่ง มีเกียรติ เนื่องจากเป็นการรับมอบอำนาจจากประชาชนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองไม่ควรที่จะถูกจูงใจด้วยเงินหรืออำนาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้ที่มีจิตใจสูง มีความเสียสละ และมีความปรารถนาที่จะทำเพื่อปวงชนอย่างแท้จริง?
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่จูงใจให้นักการเมืองไทยจำนวนหนึ่งเข้าสู่อำนาจหาใช่เงินเดือนของผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีไม่ แต่เป็นผลประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการใช้อำนาจในทางมิชอบของนักการเมือง ทำให้การแข่งขันเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองมีต้นทุนสูงมาก ส่งผลทำให้มีกำแพงในการเข้าสู่อำนาจของคนที่ปรารถนาเข้ามารัฐใช้บ้านเมือง โดยไม่หวังผลประโยชน์จากการคอร์รัปชัน และผลประโยชน์ทับซ้อน
การเปิดโอกาสให้คนดีเข้ามาสู่การเมืองได้มากขึ้นอาจทำได้โดยการลดต้นทุนในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง โดยการกำหนดเพดานต้นทุนการหาเสียงเลือกตั้งให้สอดคล้องกับเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบกับการลดแรงจูงใจของคนที่หวังผลประโยชน์จากการคอร์รัปชัน โดยการเพิ่มบทลงโทษของคดีคอร์รัปชันและโอกาสในการถูกจับของนักการเมือง ทั้งการสร้างความเข้มแข็งของระบบและเครือข่ายการตรวจสอบการคอร์รัปชัน และการกำหนดให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ?
การสร้างแรงจูงใจของนักการเมืองในการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เราต้องไม่เพียงมุ่งหวังว่าจะได้นักการเมืองที่มีแรงจูงใจภายในที่ดีเข้าบริหารบ้านเมือง แต่จำเป็นต้องสร้างระบบและสภาพแวดล้อมภายนอกที่สามารถจูงใจให้นักการเมืองที่ดีเข้าสู่อำนาจได้ และสามารถลดแรงจูงใจในการเข้าสู่อำนาจ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องด้วย
?
?
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com