แนวคิดประสิทธิคูณ : ฮาร์วาร์ดทวีคูณยกกำลังผลลัพธ์ไม่มีที่สิ้นสุด

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็นแต่ละยุทธศาสตร์ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณ (Exponentiality) หรือยุทธศาสตร์การบริหารทวีคูณผลลัพธ์ที่เลอค่า อันเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

“ประสิทธิคูณ”

เกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “ทวีคูณ” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ

ขณะที่คำว่า “ทวีคูณ” มีความหมายว่า 2 เท่า

เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายใหม่ว่าคือ

การบริหารจัดการสร้างให้เกิดผลกระทบ (impact) วงกว้าง วงแล้ว วงเล่า ขยายวงออกไป

เป็นการทวีคูณยกกำลังผลลัพธ์หรือผลกระทบที่เลอค่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประสิทธิคูณเป็นยุทธศาสตร์การบริหารผลลัพธ์ให้ประสบความสำเร็จหรือทวีคูณผลลัพธ์ที่เลอค่าสร้างให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายเป็นวงกว้าง เช่น การสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกัน การพัฒนาหัวหน้างานให้สามารถพัฒนาหรือสร้างทีมงานต่อ ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นการบริหารจัดการที่มีความคิดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณของผมดังกล่าวนี้แบบไม่จงใจหลากหลายลักษณะด้วยกัน

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณของผมด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็งกระจายอยู่ตามบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 371,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 279,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและมากกว่า 59,000 คน อาศัยอยู่ใน 202 ประเทศทั่วโลกตามที่มีระบุไว้ในข้อมูลของฮาร์วาร์ด แต่ละปีศิษย์เก่าเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีบทบาทสำคัญและมีพลังอย่างมากต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย

ฮาร์วาร์ดบริหารจัดการเครือข่ายศิษย์เก่าดังกล่าวนี้ผ่านสมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดหรือที่รู้จักกันในชื่อ Harvard Alumni Association อันเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลกิจการงานเกี่ยวกับศิษย์เก่า ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางหรือสะพานเชื่อมต่อระหว่างฮาร์วาร์ดและศิษย์เก่าที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก เครือข่ายศิษย์เก่าดังกล่าวนี้สร้างให้เกิดพลังทวีคูณทำให้ฮาร์วาร์ดสามารถดึงทรัพยากรของศิษย์เก่าแต่ละคนมาประสานเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันนี้นำสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและเข้มแข็งมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยทำงานโดยลำพัง สมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดจึงนับว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญ ทั้งนี้จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุที่ผ่านมาสมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดมีการดำเนินกิจกรรมสานสัมพันธ์กับศิษย์เก่าหลากหลายลักษณะด้วยกัน เช่น การระดมทุน การให้บริการวิชาการ การจัดกิจกรรมท่องเที่ยว การเรียนรู้แบบออนไลน์ การสนับสนุนให้มีสโมสรศิษย์เก่ามากกว่า 70 ประเทศกระจายตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ศิษย์เก่าเหล่านี้มีส่วนร่วมอย่างมากต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย

นอกจากสมาคมศิษย์เก่าดังกล่าวนี้แล้ว การบริหารจัดการของฮาร์วาร์ดยังสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณของผมดังกล่าวนี้ผ่านหลากหลายช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ ความคิด และข้อมูลข่าวสาร ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกจำนวนมากหลายล้านคนในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่สนใจทั่วโลกสามารถเข้าถึงความรู้ ความคิด และข้อมูลข่าวสาร ของฮาร์วาร์ดได้อย่างประหยัด สะดวก และรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที อันถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่มีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ข้อมูลข่าวสารของฮาร์วาร์ดสามารถเข้าถึงกลุ่มคนในแวดวงที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

การนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณมาใช้จะเป็นประโยชน์ให้เกิดการทวีคูณผลลัพธ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือนรอยกระเพื่อมของผิวน้ำที่ขยายออกเป็นวงกว้าง สร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันด้วยความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งผลช่วยให้การทวีคูณผลลัพธ์และการสร้างผลกระทบวงกว้างดังกล่าวนี้สามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เว็บเพจ การใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ตามที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วดังกล่าวข้างต้น

มหาวิทยาลัยไทยเราสามารถนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคูณดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การออกแบบให้มีระบบช่วยเหลือคณาจารย์ในการพัฒนาการสอนของตนเอง การมีระบบพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำปรึกษา อันจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนคณาจารย์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ โดยคณาจารย์เหล่านี้สามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คณาจารย์ใหม่ต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สุดท้ายนี้ อยากจะจบด้วยข้อสรุปที่ว่า

“การบริหารที่ดีต้องทวีคูณผลลัพธ์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัด อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

อันเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิสภาพแท้จริงครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ 3 – พฤหัสบดี 9 พฤศจิกายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *