เสริมสร้างพลังเยาวชน : ตัวอย่างฮาร์วาร์ดจ้างงานเยาวชนช่วงฤดูร้อน

เยาวชนเป็นขุมพลังสำคัญและเป็นอนาคตของชาติ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวผมเคยเสนอความคิดให้มีชมรมเยาวชนสร้างชาติในโรงเรียน โดยให้เป็น ชุมชนนักคิด (Community of Thinkers) ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Actors) ชุมชนผู้ทรงอิทธิพล (Community of Influencers) และชุมชนผู้ประสบความสำเร็จ (Community of Achievers)[1] กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป้าหมายต้องการให้เป็นแหล่งบ่มเพาะสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ เป็นแบบอย่างที่ดี โดยเชื่อมประสานบูรณาการทั้งทฤษฎี องค์ความรู้ และการปฏิบัติ สู่การสร้างผู้นำเยาวชนการสร้างชาติ เช่น อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างชาติ เป็นพี่เลี้ยงพาทำกิจกรรม เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น โดยสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ที่ผมเป็นประธานเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยที่สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมชมรมเยาวชนสร้างชาติดังกล่าวนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนด้วยเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดสนับสนุนกิจกรรมให้แก่กลุ่มเยาวชนดังกล่าวนี้หลากหลายลักษณะตามที่ผมเคยนำเสนอในบทความก่อนหน้านี้ เช่น การเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในช่วงการศึกษาภาคฤดูร้อน รวมถึงการจัดกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะการทำงานและการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่บอสตันและเคมบริดจ์ (Boston and Cambridge) ที่เรียกว่า กิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อน หรือ Summer Youth Employment Program (SYEP) มีส่วนช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนเหล่านี้ในอนาคตด้วยอีกทางหนึ่ง

ฮาร์วาร์ดดำเนินกิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อนดังกล่าวนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี เปิดโอกาสให้เยาวชนมีโอกาสร่วมทำงานกับแผนกต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ดตลอดทั่วทั้งมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่เยาวชน เตรียมเยาวชนให้พร้อมสำหรับโลกของการทำงาน เช่น การพัฒนาอุปนิสัยการทำงานที่ดี การสร้างเครือข่ายการทำงาน การเพิ่มเติมประสบการณ์การทำงานในโลกจริง การเรียนรู้วิธีการทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา เป็นต้น ทั้งนี้โดยฮาร์วาร์ดมีลักษณะงานหลากหลายให้เยาวชนเลือกทำ เช่น การช่วยงานห้องสมุด การสนับสนุนสำนักงาน การเขียน การจัดลำดับงาน การสนับสนุนการกีฬา การบำรุงรักษา เป็นต้น โดยมีระยะเวลาการทำงานระยะสั้น พร้อมทั้งมีรายได้ที่เหมาะสมให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมเหล่านี้ด้วย[2]

กิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อนนับว่าเป็นตัวอย่างกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ มีสมรรถนะการทำงาน และเรียนรู้บริหารจัดการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์ อันมีส่วนสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

กรณีมหาวิทยาลัยไทยสามารถมีส่วนร่วมเสริมสร้างพลังเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมหลากหลายตามความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น การเป็นแหล่งจ้างงานและมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่เยาวชน สนับสนุนให้เยาวชนค้นพบศักยภาพ ความถนัด และความสนใจ ของตนเอง มีส่วนเสริมสร้างเยาวชนให้เป็นผู้นำเยาวชนที่มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมส่วนรวม เป็นต้น

 

[1] ผมนำเสนอความคิดเอาไว้ในการบรรยายหัวข้อ ยุทธศาสตร์การสร้างคนด้วยการศึกษาเพื่อการสร้างชาติ งานเปิดตัวโครงการ “ชมรมเยาวชนคนสร้างชาติ” จัดโดย นักศึกษาหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.)” รุ่น 2 ณ ห้องประชุมโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เขตวัฒนา วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/supporting-summer-youth-employment-at-harvard/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 42 วันศุกร์ 29 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *