เรียนรู้ 365/24/120 ตลอดอายุขัย : ตัวอย่างการศึกษาออนไลน์ฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดสูตรการเรียนรู้ 365/24/120 หรือ การเรียนรู้ตลอดอายุขัย1 เอาไว้ในหลายเวทีว่า เป็นการเรียนรู้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดช่วงชีวิต 120 ปีที่สามารถไปถึง บูรณาการเชื่อมโยงกันทั้งระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต
การศึกษาทุกระดับของเราควรส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาลักษณะการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน สนับสนุนให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการเรียนรู้นำสู่การพัฒนาทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิตอย่างสมดุลครบถ้วนตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนของเราประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยว่าข้อมูลความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต แต่การเรียนรู้จะสร้างให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในตัวผู้เรียน

สูตรการเรียนรู้ 365/24/120 หรือ การเรียนรู้ตลอดอายุขัยของผมดังกล่าวนี้สะท้อนตัวอย่างให้เห็นผ่านการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้ในลักษณะการศึกษาออนไลน์ภายในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า HarvardX จำนวนมากกว่า 100 วิชาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการพัฒนาการศึกษาออนไลน์ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย เช่น มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ที่เรียกว่า edX ซึ่งล่าสุดขยายบริการการศึกษาคุณภาพระดับสูงเป็นเกือบ 2,000 รายวิชา2 มีผู้เรียนทั่วโลกจำนวนหลายล้านคน

การศึกษาออนไลน์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างลักษณะการเรียนรู้ตามสูตร 365/24/120 ของผมที่เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจ ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักศึกษา สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดช่วงชีวิต ตามศักยภาพและความสนใจของตนเอง เป็นการเพิ่มพูนความรู้ตลอดทางตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ ทลายความจำกัดของลักษณะการเรียนรู้แบบเดิมที่ผูกอยู่กับห้องเรียนเป็นสำคัญ เป็นการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านองค์ความรู้และแนวโน้มการประกอบอาชีพในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต

การศึกษาของประเทศไทยเราเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรพัฒนาตนเองสู่การเป็นแหล่งการเรียนรู้คุณภาพ มีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่ม สนับสนุนการพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมความรู้ (Knowledge Society) ที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของการเรียนรู้ดังกล่าวนี้

สุดท้าย ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่สะท้อนถึงความสำคัญของการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ที่ว่า

“ทำตัวเองให้เป็นศูนย์ เพื่อเพิ่มพูนในความรู้ อย่าหยิ่งปิดประตู เพราะทุกสิ่งเป็นครูที่สอนเรา”

และอีกครั้งในหนังสือ คมความคิด ดร. แดน : แก่นแกนความสำเร็จ ที่ว่า

“โอกาสทองของการเรียนรู้สิ่งใหม่ จะหลุดลอยไปเพราะคำว่า ‘รู้แล้ว’ ”

ขอให้ทุกเวลาของเราเป็นเวลาของการขวานขวยเพิ่มพูนการเรียนรู้อยู่เสมอ ครับ

 

[1] ผมนำเสนอความคิดครั้งแรกในการเสวนาประเด็นหัวข้อ “การรู้หนังสือกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/online-learning-offers-limitless-opportunities-to-expand/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 29 วันศุกร์ 30 มีนาคม – พฤหัสบดี 5 เมษายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *