ปัจจุบันวิทยาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทวีความสำคัญและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก มีการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมและนำมาใช้งานลักษณะหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้น พัฒนา และประดิษฐ์หุ่นยนต์ สำหรับนำมาใช้งานแทนมนุษย์ เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้งานในโรงงาน อันส่งผลช่วยให้เกิดความประหยัดและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผมคาดการณ์ว่า อนาคตด้วยความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ที่ไม่ยั้งหยุดมีแนวโน้มจะส่งผลทำให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเริ่มเห็นมีปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นบ้างแล้วในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน ประเทศเหล่านี้มีการคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น
ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการทางด้านหุ่นยนต์ดังกล่าว ผมคาดว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในอนาคต เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีเคยเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้หญิงจากเดิมที่ต้องทำงานอยู่กับบ้านเป็นหลักให้มีสมรรถนะสามารถทำงานนอกบ้านได้เช่นในปัจจุบัน โดยการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้
ตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหลายเวทีว่า “มหาวิทยาลัยเป็นมดลูกคลอดสังคม”
หากต้องการรู้ว่าอนาคตของสังคมจะเป็นอย่างไรให้ดูจากมหาวิทยาลัยในวันนี้ การให้ความสำคัญกับศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์สะท้อนให้เห็นผ่านการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ดด้วยเช่นเดียวกัน โดยทั้งนี้ที่ผ่านมาประชาคมฮาร์วาร์ดได้มีการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างสรรค์กิจกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์หลากหลายลักษณะเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เช่น การวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับนำมาใช้ทางการแพทย์และการช่วยเหลือผู้ป่วย การจัดให้มีการเรียนการสอนทางด้านหุ่นยนต์ รวมถึงสโมสรทางด้านหุ่นยนต์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือที่เรียกว่า Harvard Undergraduate Robotics Club ซึ่งภายหลังจากที่มีการจัดตั้งมาเป็นระยะเวลาหลายปี ปัจจุบันสโมสรดังกล่าวนี้มีสมาชิกมากกว่า 100 คน และมีการดำเนินกิจกรรมทางด้านหุ่นยนต์หลากหลายลักษณะ อันมีส่วนเสริมสร้างประสบการณ์การเป็นมิตรกับหุ่นยนต์ให้แก่นักศึกษา
การให้ความสำคัญเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ยังสะท้อนผ่านการจัดการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ดด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การให้บริการการศึกษาออนไลน์ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ที่เรียกว่า EdX บริการการศึกษาออนไลน์ดังกล่าวนี้เปิดให้มีการเรียนการสอน วิชาวิทยาการหุ่นยนต์ : พลวัตและการควบคุม (Robotics : Dynamics and Control) สำหรับเปิดให้กลุ่มบุคคลทั่วโลกที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ขณะที่บัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Design) ได้ริเริ่มพัฒนาให้มีรายวิชาที่ชื่อว่า หุ่นยนต์ภายในและภายนอกอาคาร (Robots In & Out of Buildings)
ผมคิดว่า ด้วยความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และแนวโน้มการนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนมนุษย์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอีกแง่มุมหนึ่งต่อการศึกษาในฐานะภาคส่วนสำคัญของการสร้างคนคือ การต้องเตรียมพร้อมปรับตัวเปลี่ยนผ่านกำลังคนให้มีสมรรถนะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้หรือยังก้าวไปไม่ถึง โดยในที่นี้ผมเสนอแนวทางหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับที่เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกระทั่งถึงระดับมหาวิทยาลัย ควรมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหนีห่างจากงานที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ เช่น การพัฒนาทักษะการคิด 10 มิติตามที่ผมเคยนำเสนอมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ อันจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อตัวผู้เรียนเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติสังคมส่วนรวมให้เกิดความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทโลกอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตและรวดเร็วด้วยอีกทางหนึ่งครับ
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ 10 – พฤหัสบดี 16 พฤศจิกายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com