คนเก่งที่ทำงานเป็นทีมร่วมกับคนอื่นไม่ได้ มักไม่เป็นที่ต้องการ เพราะความสำเร็จของงาน คือ ความสำเร็จของทีม…ไม่ใช่ของคน ๆ เดียว
ที่ผ่านมา ผมบังเอิญได้เห็นเวบไซต์หนึ่ง ซึ่งได้จัดทำ info graphic กล่าวถึง “นิสัยไทย ๆ ที่ทำให้ไทยไม่พัฒนา” มี 8 ลักษณะนิสัย ได้แก่
1. ยึดถือระบบอุปถัมภ์ – ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน
2. เฮฮาไว้ก่อน – งานเลยออกมาไม่เต็มที่
3. ขี้เกียจ รักสบาย – ทำงานแค่นี้พอและ
4. ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
5. ชอบพึ่งพาคนอื่น
6. ฟุ่มเฟือย
7. ไม่ตรงต่อเวลา
และข้อสุดท้าย… 8. สามัคคี คือ พัง – ทำงานเป็นกลุ่มไม่เป็น ชิงดีชิงเด่น ไม่ยอมกัน
นิสัยไทย ๆ แบบนี้ อาจเป็นมุมมองแง่ลบไปสักหน่อย เพราะในความเป็นจริง ย่อมไม่ได้เป็นทุกคน ผมเชื่อว่ามีคนทำงานเป็นจำนวนมากที่ขยันขันแข็ง ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง ไม่เลือกปฏิบัติ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม หากเราลองสำรวจตัวเอง และพบว่ามีข้อใดข้อหนึ่งตรงกับนิสัยของเรา เราก็ควรเปลี่ยนแปลงเสีย เพราะแน่นอนว่า นิสัยที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ย่อมส่งผลต่ออนาคตในทางลบด้วยอย่างแน่นอน
ลักษณะนิสัยทั้ง 8 ประการข้างต้น ผมคิดว่า ข้อ 1-7 เป็นเรื่องที่เราแต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แต่เรื่องที่ 8 หรือ การทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีนั้น เป็น ‘ทักษะ’ ที่เราต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิด และฝึกฝนในภาคปฏิบัติ
การขาดทักษะการทำงานเป็นทีม นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ และเสียโอกาสด้านความก้าวหน้าในการทำงาน เพราะแม้จะเป็นคนที่เรียนเก่ง มีความรู้ความสามารถ แต่หากไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ แทนที่จะสร้างความก้าวหน้า กลับสร้างความถดถอยให้เกิดขึ้นได้
เป็นความจริงที่ว่า “ถ้าหน่วยงานนั้นมี 2 คนขึ้นไป ย่อมต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม” และทีมงานที่แข็งแกร่ง ประสานงาน ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ย่อมมีพลังในการขับเคลื่อนองค์กรบรรลุเป้าหมาย และฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ ได้
ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ แม้องค์กรจำเป็นต้องมีคนเก่ง คนมีประสบการณ์ มีความชำนาญ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีร่วมด้วย นั่นคือ คนที่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ ร่วมกันทำงานเป็นทีมได้ ทั้งนี้เพราะงานขององค์กรในภาพรวม ไม่สามารถสำเร็จด้วยฝีมือคน ๆ เดียวได้ แต่สำเร็จเพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนได้อย่างประสานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนและมีเอกภาพ
คำถามคือ เราจะทำงานร่วมกันอย่างไรจึงมี ‘เอกภาพ’?
เปลี่ยนความคิด – ไม่มีคำว่า ‘ข้ามาคนเดียว’ คนจำนวนไม่น้อย ไม่ชอบทำงานเป็นทีม เพราะมีทัศนคติที่ผิด ๆ เช่น คิดว่า ทำเอง “ง่ายกว่า” คิดว่ามากคนก็มากความ ควบคุมยาก หนักใจ เสียเวลา เสียสุขภาพจิต เพื่อตัดปัญหา จึงชอบที่จะทำทุกอย่างด้วยตนเอง หรือบางคนคิดว่า ทำเอง “ดีกว่า” ไม่ไว้ใจให้คนอื่นทำ เพราะเกรงว่า จะทำไม่ได้ดีดั่งใจ ร้ายกว่านั้นอาจคิดว่า ทำเอง “เด่นกว่า” ไม่ยอมมอบหมายงาน เพราะกลัวตนเองสูญเสียความสำคัญ กลัวคนอื่นได้ผลงานดีกว่า
วิธีคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่สำคัญ ยิ่งทำให้ทำงานได้น้อย และไม่สามารถขยายงานได้ ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนทัศนคติให้ถูกต้องต่อการทำงานเป็นทีม ได้แก่ มีความคิดว่า ความสำเร็จของทีม คือ ความสำเร็จของเรา ทำงานเป็นทีมได้ผลทวีคูณ ทำงานคนเดียวอาจไม่ได้ผลเลย เราต้องมองทุกคนในทีมล้วนมีคุณค่า มีความสำคัญ ในแต่ละบทบาทหน้าที่เป็นเหมือนฟันเฟืองที่ต้องทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน แต่ละคนต้องเสริมสร้างสนับสนุนซึ่งกันและกัน งานจึงออกมาดี
‘ทีม’ เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ ตนเอง เป็นศูนย์กลาง บอกกับตัวเองเสมอว่า “จงทำดี ทำให้เด่น แบบเป็นทีม” ตระหนักว่า ความสำเร็จขององค์กร ขึ้นอยู่กับทุกคนในองค์กร ไม่ใช่เพียงคนหนึ่งคนใดที่โดดเด่น โดยไม่สนใจเพื่อนร่วมงาน แต่ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มุ่งชิงดีชิงเด่น ขัดแย้งกัน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือทัศนะสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ ต้องแสดงท่าทีนอบน้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่แสดงอวดฉลาด ข่มทับผู้อื่น และต้องไม่รู้สึกโกรธเคืองเพราะไม่ได้รับการยอมรับ ส่งเสริมให้ทุกคนนำเสนอเพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มและองค์กร เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกันอย่างแท้จริง และหากทีมมีข้อตกลงร่วมเช่นไร ก็จะยอมรับตามนั้น
จัดการ ‘อีโก้’ ตัวบั่นทอนเอกภาพ สำรวจตัวเองว่า ได้แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ หรือไม่ อาทิ หลงตัวเอง เย่อหยิ่ง โอ้อวด เห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน รักษาหน้า กลัวการถูกปฏิเสธ ฯลฯ หากเรามีอาการเช่นนี้ จะส่งผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ ไม่สามารถทำงานเป็นทีม ดังนั้น เราจึงต้องไม่ให้อีโก้เป็นใหญ่ ต้องไม่ยึดติดในความคิดตนเอง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ถือตัวเองเป็นสำคัญ และไม่หมกมุ่นอยู่กับการตอบสนองอีโก้ของตน แต่ต้องใส่ใจผู้อื่น ให้ความสำคัญเห็นคุณค่าเพื่อนร่วมงาน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ
ประเทศไทยนั้นมีสิ่งดีหลายอย่าง มีคำกล่าวว่า “คนไทยถ้าตั้งใจทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก” หากเราสามารถนำความเก่งมาประสานกัน เรียนรู้ที่จะร่วมงานกันอย่างมีเอกภาพ ย่อมเป็น “พลังทวีคูณ” ไม่ว่าทำสิ่งใด ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 742 วันที่ 22 ก.ค.-5 ส.ค. 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.ejobeasy.com/images/hr_tips/35HR1.jpg