การบูรณาการข้ามศาสตร์เป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ ด้วยว่าความรู้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมีความจำกัด ไม่เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและความต้องการทางด้านวิทยาการ จำเป็นต้องมีการจับมือทำงานร่วมกันหลายศาสตร์ เพื่อทำให้เกิดการขยายขอบเขตความรู้ทั้งในมิติความกว้างและความลึก
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่มีความโดดเด่นทางด้านการบูรณาการข้ามศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นพลวัต คิดค้นสร้างสรรค์เทคนิคและวิธีการบูรณาการข้ามศาสตร์ มีส่วนพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาการให้เท่าทันกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต เช่น ประเด็นร่วมสมัยต่าง ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา ข้อมูลจากแหล่งข่าวของฮาร์วาร์ดระบุมีการสร้างความร่วมมือใหม่เกิดขึ้นระหว่างวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School) กับวิทยาลัยดิวินิตี้ (Harvard Divinity School) สนับสนุนนักวิชาการทำการศึกษาบทบาทของชุมชนทางศาสนา (religious community) ต่อความขัดแย้งที่รุนแรงและการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน การริเริ่มความร่วมมือใหม่ดังกล่าวนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสันติภาพที่ยั่งยืนหนึ่งฮาร์วาร์ด (One Harvard Sustainable Peace Initiative) โดยโครงการ ศาสนา ความขัดแย้ง และสันติภาพ (Religion, Conflict, and Peace Initiative หรือ RCP) ดังกล่าวนี้จะรวมโครงการการรู้ศาสนา (Religious Literacy Project หรือ RLP) ของวิทยาลัยดิวินิตี้ และศาสนาและการปฏิบัติแห่งสันติภาพ (Religions and Practice of Peace) ร่วมกับโครงการตะวันออกกลาง (Middle East Initiative) ของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้คณบดีของวิทยาลัยดิวินิตี้กล่าวว่า การร่วมมือข้ามคณะ (cross-faculty approach) ดังกล่าวนี้จะสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้นำในพื้นที่การศึกษาทางด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และ “โครงการ ศาสนา ความขัดแย้ง และสันติภาพ จะใช้ทักษะสหวิทยาการของทั้งวิทยาลัยดิวินิตี้และวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ในทางที่จะสร้างความรู้ใหม่ให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้สร้างสันติภาพทั่วโลก…”[1]
การสร้างความร่วมมือใหม่ระหว่างวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้กับวิทยาลัยดิวินิตี้เป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์วิธีการทำงานแบบสหวิทยาการร่วมกัน อันจะส่งผลเป็นประโยชน์ต่อการตอบโจทย์ความต้องการทางด้านวิทยาการให้แก่สังคมอีกทางหนึ่ง
กรณีมหาวิทยาลัยไทยเราควรสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคมที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยว่าวิทยาการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตและรวดเร็ว แนวทางและวิธีการแบบเดิมอาจไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางใหม่ โดยการค้นหาและพัฒนาการ บูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชาที่มีความเหมาะสมกับบริบทและโจทย์ความต้องการของประเทศไทยเราเป็นสำคัญ
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/hds-hks-initiative-will-study-religion-conflict-and-peace/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ 5 – พฤหัสบดี 11 ตุลาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com