ฮาร์วาร์ดส่งเสริมนักศึกษาชนพื้นเมืองอเมริกันทำวิจัยช่วงพักฤดูร้อน

การพัฒนาบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้มีความหลากหลายมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ หากแต่ละคนสามารถเรียนรู้และรู้จักประยุกต์นำความแตกต่างหลากหลายมาสร้างให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการศึกษาและการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ นอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองให้แก่นักศึกษาแล้วยังจะสนับสนุนให้เกิดการขยายขอบเขตปริมณฑลความรู้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวนี้ภายในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาจากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุถึงการดำเนินโครงการภาคฤดูร้อนที่มีลักษณะเป็นโปรแกรมระยะสั้น 10 สัปดาห์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมทำวิจัยล้ำสมัย (cutting-edge research) ในสาขาวิชา เช่น วัสดุชีวภาพ (biomaterials) วิทยาศาสตร์ระดับนาโน (nanoscale science) วิศวกรรม (engineering) ภายใต้การช่วยเหลือหรือการสนับสนุนของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation) สำหรับปีนี้มีผู้สมัครมากถึง 700 คน รับเพียง 70 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้มีถึง 6 คนด้วยกันที่เป็นนักศึกษาที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน (Native American students)

โครงการภาคฤดูร้อนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ฮาร์วาร์ดจัดให้มีขึ้นนี้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหลายปี สำหรับปีนี้มีความพิเศษตรงที่มีจำนวนนักศึกษาที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ Jason Packineau ผู้ประสานงานชุมชน โปรแกรมชนพื้นเมืองอเมริกันมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Its significance is not lost on Jason Packineau) เข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยชนเผ่า (tribal colleges and universities) ในบริเวณพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันจำนวนมากว่ามีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนตัวแทนนักศึกษากลุ่มดังกล่าวนี้ในการเข้าร่วมโครงการวิจัย นอกจากนี้การมีจำนวนนักศึกษาที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันมากกว่า 1 คนเป็นการช่วยรักษานักศึกษากลุ่มดังกล่าวนี้จากความรู้สึก โดดเดี่ยว แปลกแยก และแบบมีพอเป็นพิธี (like token figures)[1]

โครงการภาคฤดูร้อนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ฮาร์วาร์ดจัดให้มีขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าและความสำคัญของฮาร์วาร์ดที่มีต่อนักศึกษากลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน อันไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีส่วนเตรียมนักศึกษาให้พร้อมทั้งทางด้านทักษะการทำวิจัยและสังคมการอยู่ร่วมกันด้วยอีกทางหนึ่ง

กรณีมหาวิทยาลัยไทย ด้วยสภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์เข้มข้นที่ทั้งโลกมีการเชื่อมโยงถึงกัน ประกอบกับกลุ่มคนต่าง ๆ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้นส่งผลกระทบ ทำให้มหาวิทยาลัยควรเตรียมพร้อมปรับแนวทางการจัดการศึกษาให้สอดรับกับแนวโน้มความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน แสวงหาแนวทางหรือวิธีการนำความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวเหล่านี้มามีส่วนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การสร้างบรรยากาศวิชาการนานาชาติ ทำโครงการวิจัยร่วม สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกระดับมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนนานาชาติ เริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก เป็นต้น

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/09/6-native-american-students-took-part-in-research-program-for-undergrads/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ 12 – พฤหัสบดี 18 ตุลาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *