รัฐบาลไทยมีความพยายามกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศมาโดยตลอด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลในเวลานั้นได้เชิญศาสตราจารย์ ไมเคิล ยูจีน พอร์เตอร์ นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาเป็นที่ปรึกษาใน “โครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถ ด้านการแข่งขันของประเทศไทย”
.
โดยผลการศึกษาได้มุ่งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นผู้นำของโลกในช่องว่างการตลาด (World Leader in Niche Markets) ใน 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ อย่างไรก็ตาม โครงการศึกษานี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้อยู่บนรากฐานของการวิจัยทางวิชาการที่หนักแน่น แต่มีส่วนผสมของการกำหนดนโยบายลงมาจากรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนโดยมีบางอุตสาหกรรมได้สิทธิพิเศษจากนโยบายรัฐ
.
โครงการนี้ได้นำไปสู่การผลักดันเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว แต่ในเวลาต่อมา ผลกลับปรากฏว่า การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ยังขาดความแม่นยำ ทำให้ต้องมีการยกเลิกหรือไม่ได้สานต่อนโยบายสนับสนุนในบางอุตสาหกรรม เช่น การยกเลิกโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่คุ้มกับงบประมาณที่จ่ายไป หลังจากใช้จ่ายงบประมาณไปกว่า 1,824 ล้านบาท และการเลือนหายไปของโครงการ “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การที่ประเทศต้องประสบกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 สร้างความสูญเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์มากถึง 2 แสนล้านบาท
.
ประกอบกับปัญหาภาพลักษณ์ของเมืองดีทรอยต์ที่ตกต่ำลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในดีทรอยต์ขาดความสามารถในการแข่งขัน จนส่งผลให้เมืองประสบกับภาวะล้มละลาย
.
ในปัจจุบันดูเหมือนว่า ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น ศูนย์กลาง Digital Valley แห่งอาเซียน ศูนย์กลางการผลิตยาจาก “กัญชา” ศูนย์กลางด้านการส่งและขนถ่ายสินค้า (Logistic) ศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางการเดินเรือและเมืองท่าที่สำคัญ ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน และปัจจุบันรัฐบาลกำลังหนุนไทยเป็นฐาน “การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” โดยตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Zero Emission Vehicles (ZEV) จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ภายในปี ค.ศ. 2030 และการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง
.
และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีมาตรการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม
.
คำถามคือ นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ข้างต้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และจะสามารถนำประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางหรือเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้หรือไม่
.
ผมได้นำเสนอมา 30 กว่าปีแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีงบประมาณที่จำกัด เราไม่สามารถลองผิดลองถูกได้ ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นในการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ แต่การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องอยู่บนฐานการวิจัยที่หนักแน่น โดยพิจารณาจากจุดแกร่งที่แท้จริงของประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้โดดเด่นในระดับโลก
.
ผมได้ทำการวิจัยเพื่อระบุภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีจุดแกร่ง 4 ด้าน ซึ่งผมเรียกว่า Thailand’s Niches ประกอบด้วย อาหาร การท่องเที่ยว สุขสภาพ (wellness) และการอภิบาลคนชรา (elderly healthcare) เหตุผลสำคัญที่ 4 อุตสาหกรรมนี้เป็นจุดแกร่งของประเทศไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ “ไม่ต้องกระโดดไกล” แต่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดจากฐานเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับ “ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้” ของศาสตราจารย์ริคาร์โด้ เฮาส์แมนน์ (Ricardo Hausmann) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศเวเนซูเอล่า และอาจารย์ที่ Harvard Kennedy School ซึ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นเพื่อนร่วมงานวิจัย
.
ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ ได้อธิบายว่า ลิงจะพยายามกระโดดไปยังต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่ข้อจำกัด คือ หากต้นไม้นั้นห่างไกลกันเกินไป ลิงจะกระโดดไปไม่ถึง เช่นเดียวกับประเทศที่จะปรับเปลี่ยนไปยังสินค้าที่มูลค่าสูงได้ยาก คือ ประเทศที่สินทรัพย์ (Assets) และความสามารถ (Capability) ที่มีอยู่ ห่างจากสินทรัพย์ (Assets) และความสามารถ (Capability) ที่ต้องการในการผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่เป็นเป้าหมายมากเกินไป ประเทศที่จะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตได้รวดเร็ว
.
เพราะเริ่มต้นจากการมีสินทรัพย์และความสามารถที่จะ “กระโดด” ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงได้ง่าย ดังนั้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ไกลเกินไปที่จะไปถึงได้นั้น จึงไม่ควรนำมาเป็นจุดแกร่งของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงมาก เพราะประเทศไทยยังขาดความสามารถผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้จริง และการพัฒนาความสามารถนั้นต้องใช้เวลายาวนานมาก
.
ผมจึงเสนอให้ประเทศไทยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายบน 4 จุดแกร่งดังกล่าว เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น โดยผมเสนอให้พัฒนาประเทศเป็น “เมืองหลวงโลก” หรือสร้างความเอกอุหรือโดดเด่นระดับโลกใน 4 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย
.
1) เมืองหลวงอาหารโลก เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย สินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น ทูน่า ข้าว ไก่ สับปะรด กุ้ง และผลไม้เขตร้อน ขณะที่เมนูอาหารไทยมีเอกลักษณ์ โดดเด่นด้านรสชาติ ความหลากหลาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยอาหารหลายชนิดเป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย โดยเฉพาะแกงมัสมั่นที่ได้รับการจัดอันดับเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก เป็นต้น
.
2) เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลาย ธรรมชาติที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และหลากหลาย อาหารอร่อย ผู้คนมีอัธยาศัยดี ต้อนรับคนต่างชาติ และมีใจบริการ สังคมไทยมีอิสรเสรี การท่องเที่ยวมีความคุ้มค่า และแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองน่าเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น
.
3) เมืองหลวงสุขสภาพโลก เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์ ระบบสาธารณสุขถูกจัดเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย (2019 Global Health Security Index) มีผู้ป่วยเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์นับล้านคนในแต่ละปี
.
บริการทางการแพทย์ของไทยมีคุณภาพ บริการน่าประทับใจ เทคโนโลยีทันสมัย บุคลากรมีคุณภาพ จำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ไทยยังมีชื่อเสียงในบริการด้านศัลยกรรม ความงาม การชะลอวัย การป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพ รวมทั้งบริการสุขภาพทางเลือก อาทิ การนวดแผนไทย แพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย เป็นต้น ขณะที่ต้นทุนการให้บริการย่อมเยากว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
.
4) เมืองหลวงการอภิบาลคนชราโลก เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมหลังเกษตรกรรมและเป็นครอบครัวเดี่ยว ลูกหลานไม่มีเวลาดูแล จึงต้องส่งผู้สูงอายุไปให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุช่วยดูแล อย่างไรก็ดี บริการดูแลผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจไม่ได้รับการดูแลที่ดี เพราะคนขาดใจบริการ ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยต่ำกว่า คนไทยมีใจบริการ สุภาพอ่อนโยน มีน้ำจิตน้ำใจ และเคารพผู้อาวุโส นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีบริการทางการแพทย์และพยาบาลที่ดีเลิศ
.
สุดท้ายนี้ ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ประเทศจะแข็งแกร่งเมื่อเราพัฒนาบนจุดแกร่งที่แท้จริง ซึ่งผมได้ตั้งสถาบันการสร้างชาติและเชื่อในหลักการนี้เสมอว่า เราต้องสร้างชาติ สร้างชุมชน บนจุดแกร่ง ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เรื่องที่เราเก่งที่สุดคือเรื่องอะไร แล้วนำสิ่งนั้นมาให้ใช้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
.
ที่มา cioworldbusiness.com