“คำโกหกเพียงครั้งเดียว ทำให้ความจริงนับพันมัวหมองไป”
อัล เดวิด (Al David) อดีตโค้ชและผู้บริหารทีมอเมริกันฟุตบอลที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวความจริงข้างต้นไว้
ในอาชีพการทำงาน การโกหก…และ ‘ถูกจับได้’ เพียงครั้งเดียว อาจทำให้อนาคตการทำงาน ชื่อเสียงที่อุตสาห์สะสมไว้ด้วยความเพียรพยายาม ‘ล่มสลาย’ ลง และไม่มีวันรื้อฟื้นกลับมาได้อีกเลย
ประตูอนาคตของคนที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย ต้องถูกปิดลงตลอดกาล….เมื่อถูก ‘เปิดโปง’ อาทิ
..เจเนต คุก (Janet Cooke) นักเขียนคนหนึ่งของสำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ เธอได้เขียนบทความเรื่อง “โลกของจิมมี่” (Jimmy’s World) ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1980 เล่าเรื่องราวของจิมมี่ เด็กชายวัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นรุ่นที่สามของครอบครัวที่ติดเฮโรอีน ในบทความเธอได้นำเสนออย่างละเอียด ทั้งการสัมภาษณ์ การเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ จนได้รับรางวัลพูลิซเซอร์ (Pulitzer) เมื่อปี ค.ศ. 1981 แต่หลังจากนั้น ได้มีการค้นหาเด็กชายจิมมี่ ตามที่เธอกล่าวอ้าง กลับพบว่า ไม่มีตัวตนจริง เป็นเรื่องที่เธอกุขึ้น และเมื่อถูกจับได้ เธอจึงจำใจออกมายอมรับว่า ‘โกหก’ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น จากคำบอกเล่าที่มีความจริงเพียงเล็กน้อย
เมื่อถูกจับได้ …เท่ากับอนาคตในอาชีพย่อมสิ้นสุดลง เธอถูกให้ออกจากงาน และต้องคืนรางวัลพูลิซเซอร์อันทรงเกียรติที่ได้มา
…แลนซ์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong) นักปั่นจักรยานเจ้าของแชมป์การแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ 7 สมัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ถึง 2005 ความเป็นแชมป์ของเขาสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 2012 เมื่อคณะกรรมการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของสหรัฐอเมริกา (US Anti-Doping Agency, USADA) ตรวจสอบพบว่า เขาใช้สารกระตุ้นผิดกฎหมาย เมื่อจำนนต่อหลักฐาน ในที่สุดเขาได้สารภาพว่า ที่ผ่านมา เขาใช้สารต้องห้ามจริง และยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้แชมป์ทั้ง 7 สมัย ถ้าไม่ได้ใช้สารเหล่านี้
เมื่อถูกจับได้ …เขาถูกลงโทษห้ามมิให้ลงแข่งขันตลอดชีพ ถูกริบตำแหน่งและรางวัลคืนทั้งหมด 7 สมัยที่ได้รับ อนาคตในวงการจักรยาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตได้สิ้นสุดลง
ถามว่า ทั้งสองคนทราบหรือไม่ว่า สิ่งที่ทำนั้นผิด …แน่นอนว่า ต้องทราบ เพราะเป็นกฎกติกา จรรยาวิชาชีพที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ..เพราะเหตุใด จึงตัดสินใจทำเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ไม่ถูกต้อง!!!
กล้าโกหก เพราะกลัวล้มเหลว เจเนต คุก ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1982 กล่าวว่า การที่เธอแต่งเรื่องขึ้นมา เป็นเพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีแรงกดดันสูง เธอถูกคาดหวังว่าจะต้องผลิตผลงานที่ดี มีคุณภาพออกมา และนั่นทำให้เธอบิดเบือนความชอบธรรมในใจไป เธอได้ข้อมูลของเด็กชายมาเล็กน้อยจากแหล่งข่าว แต่เมื่อไม่สามารถหาตัวเด็กชายคนนี้ได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งต้นฉบับแล้ว เธอจึงตัดสินใจแต่งเรื่องขึ้นมาเอง ด้วยหวังว่าบรรณาธิการจะพึงพอใจ
กล้าโกหก เพราะมุ่งชัยชนะ แลนซ์ อาร์มสตรอง ได้เปิดใจผ่านทางรายการโทรทัศน์ โดยโอปราห์ วินฟรีย์ ได้ตั้งคำถามหนึ่งว่า “คุณมีความสุขไหมกับการได้รับชัยชนะโดยที่รู้ว่าได้มาเพราะใช้สารต้องห้าม” เขาตอบว่า “มีสิ ทั้งตอนแข่งขัน ตอนสร้างทีม ตอนเตรียมตัว” และกล่าวยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้แชมป์ตูร์เดอฟร็องส์ ถึง 7 สมัย โดยไม่ใช้สารต้องห้าม
กล้าโกหก เพราะคิดว่าไม่มีใคร ‘จับ’ ได้ โอปราห์ วินฟรี่ย์ ได้ถาม แลนซ์ อาร์มสตรอง ว่า “เคยคิดไหมว่าวันนี้จะมาถึง วันที่คุณจะถูกจับได้” เขาตอบว่า “ผมเคยคิดว่า เรื่องมันจะยืนยาวไปนาน ๆ..” สิ่งที่คนโกหกมักจะคิดเหมือน ๆ กัน นั่นคือ มักคิดว่า ตนทำได้อย่างแนบเนียน สมจริง ไม่น่าจะมีใครจับผิดได้ แม้เริ่มมีใครสงสัยก็จะแก้ตัว หาข้ออ้างเพื่อเอาตัวรอดไปได้ จึงค่อนข้างมั่นใจในสิ่งที่ตนทำว่าจะรอดพ้นได้ตลอดไป
ย้อนกลับมาสำรวจดูตัวเรา ในการทำงาน มีแรงบีบจากความกลัว หรือความต้องการบางอย่างหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจ ‘โกหกหลอกลวง’ โดยคิดว่าจะไม่มีใครจับได้….
ในภาวะปกติ สถานการณ์ที่เรายังสามารถควบคุม จัดการ ยังมั่นใจ เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ ฝีมือของตน เราคงไม่มีปัญหาที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม ทำตามกฎระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพของตนได้ แข่งขันกับผู้อื่นอย่างยุติธรรม
ทว่า..ในสถานการณ์ที่เราต้องการความสำเร็จ ต้องเอาตัวรอด ต้องชนะ หรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ ‘กดดัน’ ให้แพ้ไม่ได้ สูญเสียไม่ได้ ถูกปฏิเสธไม่ได้ แต่กลับไม่มีความมั่นใจว่า ตนเองจะสามารถทำได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง …ในช่วงเวลาเหล่านี้ มนุษย์มักหาทางเอาตัวรอด ด้วยการหาวิธีต่าง ๆ ที่นำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ หลายคนอาจเลือกวิธีที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการสร้างเรื่อง และ ‘ปกปิด’ หรือ ‘โกหก’ ให้แนบเนียนที่สุด สมจริงมากที่สุด
ดังนั้น หากวันใดเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ ก่อนตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการสร้างเรื่องเท็จ ให้จำไว้ว่า ต้นทุนความเสี่ยงของการโกหกนั้นสูงมาก เพราะแลกกับอนาคต หรือชีวิตของเราที่เหลือทั้งหมด และคำขอโทษเมื่อถูกจับได้ อาจไม่เพียงพอที่จะซื้อ ‘ศรัทธา’ ที่ผู้อื่นเคย เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจ ในตัวเรา… ซึ่งสูญเสียไปแล้ว กลับคืนมาได้
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 738 วันที่ 27 พฤษภาคม -10 มิถุนายน 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://creativeworksmarketing.files.wordpress.com/2015/05/men_handshake.jpg